แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เช่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เช่ามาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้เช่าประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งกับเป็นตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า และมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงตกลงส่งมอบรถยนต์ 3 คัน ให้ผู้เช่า แต่ความจริงผู้เช่าไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถยนต์แต่อย่างใด แม้จะชำระค่าเช่ามาบางส่วนแต่ก็เพื่อที่จะทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อและเพื่อฉ้อโกงรถยนต์คันต่อไปจากโจทก์เพิ่มอีกดังที่ได้ติดต่อไว้ จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์ดังกล่าวกันจริง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินคดีอาญากับ ม. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เช่าในเรื่องนี้ และศาลแขวงพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษ ม. ในความผิดฐานยักยอก โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้างต้น จึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานข้างต้นถือได้ว่าการกระทำของผู้เช่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถติดตามรถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนมาได้ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ที่ให้เช่าดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากถูกฉ้อโกงแล้ว และเมื่อสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า วินาศภัย ว่า ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญา จำเลยร่วมตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขและความคุ้มครองตามข้อ 5 ระบุว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่คดีนี้ฟังได้ว่าการที่รถยนต์ทั้งสามคันสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว แม้ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยร่วมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยก็เป็นการรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่วินิจฉัยมาแล้ว วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์ทั้งสามคันอันเกิดจากการฉ้อโกงคดีนี้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 ซึ่งในเงื่อนไขข้อดังกล่าวยังระบุว่าให้จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยร่วมทันทีและให้ถือว่าการคุ้มครองรถรถยนต์นั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะได้ติดตามรถยนต์ที่สูญหายคืนมาได้ 1 คัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือถึงจำเลยร่วมเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ที่สูญหายไปทั้งสามคัน และให้มารับซากรถยนต์ที่ติดตามได้คืนมาแล้ว อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.1.2 ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืน จำเลยร่วมจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในรถยนต์คันนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย
แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายจะเป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 แต่ปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 และข้อ 6.2.3 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ความว่า หากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถือว่าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาทั้งหมด และโจทก์อาจยอมรับการบอกเลิกสัญญานั้นทันทีหรือเมื่อใดหลังจากนั้นก็ได้ และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายต่างๆ แก่โจทก์ อันได้แก่ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินงวดและดอกเบี้ยที่ค้าง ค่าโสหุ้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโจทก์ในการค้นหา ยึดคืน ซ่อมแซม เก็บรักษา ทวงหนี้ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินค่างวดทั้งหมดที่จะต้องชำระในระยะเวลาเช่าซื้อที่เหลือ ตลอดจนค่าเสียหายอื่นๆ ดังนี้ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ไว้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าตามข้อตกลงเช่นว่านี้ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแต่ละงวดมิใช่เป็นการชำระราคารถแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย เมื่อหักค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวออกจากค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เหมาะสมแล้ว
อนึ่ง คดีนี้ศาลรวมพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน มูลคดีมาจากรถยนต์พิพาท 3 คัน สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ ฟ้องจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยเนื่องจากรถยนต์สูญหาย ส่วนสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ข้างต้นฟ้องจำเลยทั้งสาม ในฐานะผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ และศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่แล้ว ทำให้ในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่นี้ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ได้ ดังนั้น เมื่อศาลได้วินิจฉัยในสำนวนแรกให้จำเลยร่วมรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีจึงให้นำเงินที่จำเลยร่วมต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งมีจำนวนที่มากกว่าอยู่แล้ว มาชำระให้โจทก์ในนามของจำเลยทุกคนในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เหลืออยู่เท่าใดก็ให้จำเลยร่วมชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมต้องชำระเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,450,000 บาท และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,441,000 บาท เมื่อนำมาหักกลบกันตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,009,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไป
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนที่สองถึงที่สี่ว่าโจทก์ เรียกโจทก์สำนวนแรก ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สองถึงที่สี่ว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 และที่ 3 สำนวนที่สองถึงที่สี่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยร่วมสำนวนที่สองถึงที่สี่ว่า จำเลยร่วม
สำนวนแรก โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,966,080.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เก็บซากรถยนต์เดือนละ 10,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะรับซากรถยนต์คืน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสามคันคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน สำนวนที่สองและที่สามเป็นเงินคันละ 620,879 บาท สำนวนที่สี่เป็นเงิน 578,790 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์สำนวนที่สอง 440,000 บาท สำนวนที่สาม 502,666.61 บาท สำนวนที่สี่ 431,999.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 40,000 บาท ต่อคัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนรถหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การทั้งสามสำนวนขอให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสามและยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนในส่วนของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 452,000 บาท หมายเลขทะเบียน ษล 2029 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน ษล 2030 กรุงเทพมหานคร เป็นเงินคันละ 494,500 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหาย 348,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 118,150 บาท นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 (วันฟ้องสำนวนที่สอง) ของเงินต้น 230,380 บาท นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2550 (วันฟ้องสำนวนที่สามและที่สี่) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยร่วมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดเฉพาะค่าใช้ราคาแทนรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสามคันแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนกับร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นั้นให้ยกเสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ใหม่จากโจทก์ รวม 3 คัน ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นหมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร ษล 2029 กรุงเทพมหานคร และ ษล 2030 กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ทั้งสามคันไปเอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วมโดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ มีเงื่อนไขและความคุ้มครองตาม ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ทั้งสามคันให้บริษัทเต็ง คอมเมอร์เชียล แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด เช่า ตามสัญญาเช่ารถพร้อมอุปกรณ์ บริษัทเต็ง คอมเมอร์เชียล แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด ได้วางมัดจำและชำระค่าเช่าให้ถึงเดือนมิถุนายน 2547 ครั้นเดือนกรกฎาคม 2547 จำเลยที่ 1 ทราบว่านายมานะ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเต็ง คอมเมอร์เชียล แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด นำรถยนต์ทั้งสามคันไปจำนำกับผู้มีชื่อไม่อาจติดตามกลับคืนมาได้จำเลยที่ 1 จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายมานะว่า กระทำความผิดฐานยักยอก ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายมานะในความผิดฐานยักยอกต่อศาลแขวงพระโขนง โดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลแขวงพระโขนงพิพากษาว่านายมานะมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้คืนรถยนต์รวม 3 คัน หรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 4,392,612 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากนี้นายมานะและบริษัทเต็ง คอมเมอร์เชียล แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด ยังถูกผู้ให้เช่ารถยนต์รายอื่นดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำพิพากษาและสำเนาคำร้องฝากขัง จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยทำหนังสือมอบอำนาจหรือเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยร่วม แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมาเป็นของตน และเรียกให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยร่วมปฏิเสธโดยอ้างว่ารถยนต์ทั้งสามคันถูกยักยอกไปโดยผู้เช่าของจำเลยที่ 1 จึงเข้าข้อยกเว้นความรับผิด จำเลยที่ 1 จึงฟ้องจำเลยร่วม และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ในส่วนของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร แล้ว จำนวน 22 งวด และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 23 ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2549 ติดต่อกันเป็นต้นมา ส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษล 2029 กรุงเทพมหานคร และ ษล 2030 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์คันละ 21 งวด และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 22 ประจำวันที่ 24 มกราคม 2549 ติดต่อกันเป็นต้นมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ติดตามรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร คืนมาได้ในสภาพเสียหายมาก และได้มีหนังสือให้โจทก์มารับซากรถคืน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์ทั้งสามคันที่จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วมสูญหายหรือไม่ ในปัญหานี้ได้ความจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2547 นายมานะ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเต็ง คอมเมอร์เชียล แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากโจทก์ รวม 3 สัญญา จำนวน 3 คัน เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจขนส่ง ตามสัญญาเช่า หลังจากนั้นบริษัทดังกล่าวและนายมานะมิได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาให้จำเลยที่ 1 ตรวจเช็คตามระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2547 ตามหนังสือแจ้งให้นำรถเข้ารับบริการ แต่กลับนำรถยนต์ที่เช่าไปจำนำไว้กับบุคคลภายนอก โดยนายมานะหาได้นำรถยนต์ที่เช่าไปใช้เพื่อประกอบธุรกิจแต่อย่างใดไม่ ทั้งนายมานะยังไปขอเช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่ารายอื่น แล้วนำรถยนต์ที่เช่ามานั้นนำไปจำนำกับบุคคลภายนอกเช่นเดียวกับคดีนี้หลายคัน จนต่อมานายมานะถูกดำเนินคดี และศาลได้มีคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำพิพากษาและสำเนาคำร้องขอฝากขัง ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดของเอกสารดังกล่าวพบว่ามีรถยนต์ที่ถูกผู้เช่ารายนี้ฉ้อโกงไปกว่า 50 คัน และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่บริษัทเต็ง คอมเมอร์เชียล แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด โดยนายมานะจะมาติดต่อเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีเจตนาทุจริตหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เช่ามาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งกับเป็นตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า และมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงตกลงส่งมอบรถยนต์ 3 คัน ให้บริษัทไป แต่ความจริงบริษัทไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถยนต์ดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะชำระเงินมัดจำเพื่อเป็นประกันค่าเสียหายกับชำระค่าเช่ามาบางส่วนแต่ก็เพื่อที่จะทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อและเพื่อฉ้อโกงรถยนต์คันต่อไปจากโจทก์เพิ่มอีกดังที่ได้ติดต่อไว้ จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์ดังกล่าวกันจริง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินคดีอาญากับนายมานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวในเรื่องนี้ และศาลแขวงพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษนายมานะในความผิดฐานยักยอก โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้างต้น จึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานข้างต้นถือได้ว่าการกระทำของผู้เช่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถติดตามรถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนมาได้ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ที่ให้เช่าดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากฉ้อโกงแล้ว และเมื่อสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า “วินาศภัย” ว่า ให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญา จำเลยร่วมตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขและความคุ้มครอง ระบุว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่คดีนี้ฟังได้ว่าการที่รถยนต์ทั้งสามคันสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว แม้ตามเอกสาร ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยร่วมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยก็เป็นการรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่วินิจฉัยมาแล้ว วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์ทั้งสามคันอันเกิดจากการฉ้อโกงคดีนี้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย ที่ระบุในความเสียหายต่อรถยนต์ทั้งสามคันไว้คือคันละ 1,150,000 บาท ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งในเงื่อนไขข้อดังกล่าวยังระบุว่าให้จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยร่วมทันทีและให้ถือว่าการคุ้มครองรถยนต์นั้นสิ้นสุดลง ดังนั้นแม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะได้ติดตามรถยนต์ที่สูญหายหมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร คืนมาได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือถึงจำเลยร่วมเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ที่สูญหายไปทั้งสามคัน และให้มารับซากรถยนต์ที่ติดตามได้คืนมาแล้ว อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.1.2 ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืน จำเลยร่วมจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในรถยนต์คันนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนรวม 3,450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 16 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดในหนังสือขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายในการจัดหาที่จอดและเก็บรักษาซากรถยนต์มาด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบว่าได้รับความเสียหายอย่างใด จึงไม่กำหนดให้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อระงับ ข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีผลใช้บังคับ ทั้งข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว ข้อ 6 และข้อ 6.2.3 มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ไปก็ถือว่าเพียงพอกับค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับแล้ว เห็นว่า แม้การที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายจะเป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่ปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อ ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ความว่า หากรถยนต์ที่เช่าซื้อ สูญหาย ถือว่าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาทั้งหมด และโจทก์อาจยอมรับการบอกเลิกสัญญานั้น ทันทีหรือเมื่อใดหลังจากนั้นก็ได้ และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายต่างๆ แก่โจทก์ อันได้แก่ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินงวดและดอกเบี้ยที่ค้างค่าโสหุ้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโจทก์ในการค้นหา ยึดคืน ซ่อมแซม เก็บรักษา ทวงหนี้ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินค่างวดทั้งหมดที่จะต้องชำระในระยะเวลาเช่าซื้อที่เหลือ ตลอดจนค่าเสียหายอื่นๆ ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ไว้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวแต่การกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าตามข้อตกลงเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งสามคันมีราคารถที่แท้จริงคันละ 1,259,813 บาท แม้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อรถคันหมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร ไปแล้ว 22 งวด งวดละ 40,725 บาท และชำระค่าเช่าซื้อรถคันหมายเลขทะเบียน ษล 2029 กรุงเทพมหานคร และ ษล 2030 กรุงเทพมหานคร ไปแล้วคันละ 21 งวด งวดละ 40,646 บาท ต่อคัน แต่ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแต่ละงวดมิใช่เป็นการชำระราคารถแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วยเมื่อหักค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวออกแล้ว คงเหลือเป็นการชำระราคารถหมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 769,885.60 บาท กับรถหมายเลขทะเบียน ษร 2029 กรุงเทพมหานคร และ ษล 2030 กรุงเทพมหานคร เป็นเงินคันละ 734,890.80 บาท เท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์แล้วที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ในส่วนของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษร 2363 กรุงเทพมหานคร 452,000 บาท และรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษล 2029 กรุงเทพมหานคร คันละ 494,500 บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลรวมพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน มูลคดีมาจากรถยนต์พิพาท 3 คัน สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ข้างต้น ฟ้องจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยเนื่องจากรถยนต์สูญหาย ส่วนสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ข้างต้นฟ้องจำเลยทั้งสาม ในฐานะผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ และศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่แล้ว ทำให้ในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่นี้ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ได้ ดังนั้นเมื่อศาลได้วินิจฉัยในสำนวนแรกให้จำเลยร่วมรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัย และในขณะเดียวกันก็ให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีจึงให้นำเงินที่จำเลยร่วมต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งมีจำนวนที่มากกว่าอยู่แล้ว มาชำระให้โจทก์ในนามของจำเลยทุกคนในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เหลืออยู่เท่าใดก็ให้จำเลยร่วมชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมต้องชำระเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,450,000 บาท และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,441,000 บาท เมื่อนำมาหักกลบกันตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,009,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,009,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,450,000 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,441,000 บาท ยกฟ้องจำเลยทั้งสามค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างคู่ความทุกฝ่ายทั้งสี่สำนวนทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์