คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีหนังสือรับรองของเจ้าพนักงานโนตารีปับลิก แห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมาแสดงต่อศาล ซึ่งมีข้อความรับรองว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัท โดยคำสั่งของคณะกรรมการและผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองได้กระทำเพื่อบริษัทดังกล่าวแล้วทุกประการ จำเลยมิได้คัดค้านว่าหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ลงลายมือชื่อไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เช่นนี้ ผู้มอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ การมอบอำนาจจึงถูกต้องใช้ได้ โจทก์ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าใช้กับรองเท้าเป็นรูปแถบโค้งประดิษฐ์และรูปแถบโค้งประดิษฐ์ประกอบอักษรโรมันคำว่าPUMA(พูม่า)โดยติดอยู่ข้างรองเท้าสินค้าของโจทก์มีลักษณะโค้งมนส่วนล่างกว้าง 5 เซนติเมตรครึ่ง แล้วค่อย ๆ รีเล็กลง ส่วนที่จรดกับตะเข็บเส้นรองเท้ากว้างเพียง 1 เซนติเมตร เครื่องหมายนี้ต่างกับลักษณะของตะเข็บรองเท้าทั่ว ๆ ไป และมีสีสรรสวยงามตัดกับสีพื้นรองเท้ามองเห็นอย่างเด่นชัด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายแถบโค้งดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าตามความในมาตรา 3 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2 แบบ เป็นรูปประดิษฐ์ลักษณะเหมือนกล้องยาเส้นหงายขึ้นและตะขอหงาย จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยผลิตและจำหน่ายรองเท้าโดยใช้เครื่องหมายแถบโค้งเหมือนกับของโจทก์ทุกประการ สินค้ารองเท้าบางแบบของจำเลยเพียงแต่มาประทับตัวหนังสืออักษรโรมันคำว่า LONGHORNไว้ที่หุ้มข้อด้านหลังเหนือแถบโค้งที่เรียว มาบรรจบกันเท่านั้น ซึ่งต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอักษรโรมันว่า PUMAบ้างหรือรูปเสือกำลังกระโจนอยู่เหนือแถบโค้งบ้างที่ลิ้นรองเท้าบ้างเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ มีรูปแถบโค้งเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเพราะเป็นส่วนที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด และมีรูปตัวอักษรโรมัน PUMA หรือรูปเสือกระโจนเป็นส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบย่อย เพราะประชาชนมุ่งดูรูปแถบโค้งเป็นที่หมายแห่งสินค้าของโจทก์ยิ่งกว่าดูรูปตัวอักษรโรมันPUMA หรือรูปเสือกระโจน การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าลักษณะดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันกับของจำเลยหรือไม่ จำต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นรูปแถบโค้งเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัดแม้ส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบปลีกย่อยจะต่างกันซึ่งมองเห็นได้ยากจึงถือได้ว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และการที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ลักษณะหนึ่งซึ่งต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่นำมาใช้อีกอย่างหนึ่งแตกต่างจากที่ขอจดทะเบียนไว้โดยใช้ให้เหมือนกับของโจทก์ แสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยและเป็นการจงใจเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปแถบโค้งประดิษฐ์และเป็นแถบโค้งประดิษฐ์ประกอบกับอักษรโรมันคำว่า PUMA ในประเทศไทย แต่นายทะเบียนไม่รับจดให้ เพราะจำเลยอื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลยและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่า เอกสารมอบอำนาจปลอม ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจ เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนการค้าของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลย จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาประการแรกว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มอบอำนาจเป็นเพียงหัวหน้าเสมียนมิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนห้าง ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างฯโจทก์เห็นว่า โจทก์มีหนังสือรับรองของเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมาแสดงต่อศาล ซึ่งมีข้อความรับรองว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวข้างต้นนี้ได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัทดังกล่าวโดยคำสั่งของคณะกรรมการและผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองได้กระทำเพื่อบริษัทดังกล่าวแล้วทุกประการ ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำฟ้อง จำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านว่าหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าความจริงผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ คดีจึงต้องฟังว่าผู้มอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ การมอบอำนาจจึงเป็นอันถูกต้องใช้ได้แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ที่ 2ฎีกาเป็นใจความทำนองเดียวกันเป็นประการต่อไปว่า แถบโค้งที่ติดข้างรองเท้าของโจทก์เป็นเพียงลวดลายตะเข็บที่ประดับบนรองเท้าเพื่อให้เกิดความทนทาน ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 3 และมาตรา 4(5) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 เห็นว่าแถบโค้งที่ติดอยู่ข้างรองเท้าหมาย จ.11 ของโจทก์นั้นมีลักษณะโค้งมน ส่วนล่างกว้าง 5 เซนติเมตรครึ่ง แล้วค่อย ๆรีเล็กลง ส่วนที่จรดกับตะเข็บส้นรองเท้ากว้างเพียง 1 เซนติเมตรเครื่องหมายนี้ต่างกับลักษณะของตะเข็บรองเท้าทั่ว ๆ ไป ยิ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายแถบโค้งที่ติดอยู่ข้างรองเท้าแบบต่าง ๆ ของโจทก์ตามเอกสารโฆษณาหมาย จ.5 ถึง จ.10 ภาพถ่ายเอกสารโฆษณาสินค้า1 เล่ม ตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งเครื่องหมายแถบโค้งจะมีสีสรรสวยงามตัดกับสีพื้นรองเท้ามองเห็นอย่างเด่นชัด แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเครื่องหมายแถบโค้งของโจทก์เป็นเครื่องหมายซึ่งได้ใช้เป็นที่หมายแห่งสินค้าคือรองเท้าชนิดต่าง ๆ เพื่อสำแดงว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายเช่นว่านั้นทั้งโจทก์ได้ทำการค้าขายสินค้ารองเท้าดังกล่าวรวมทั้งเป็นผู้เสนอขายด้วย กรณีจึงถือได้ว่าเครื่องหมายแถบโค้งดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าตามความในมาตรา 3 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ณ สำนักงานคุ้มครองอุตสาหสมบัติระหว่างชาติ ตามอนุสัญญากรุงมาดริคไม่มีผลใช้บังคับในประเทศไทยนั้นเห็นว่า การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเครื่องหมายแถบโค้งที่ติดอยู่ข้างรองเท้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้านั้น วินิจฉัยโดยพิจารณาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 3 หาได้วินิจฉัยโดยอาศัยอนุสัญญากรุงมาดริคแต่ประการใดไม่ ดังนั้นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ณ สำนักงานคุ้มครองอุตสาหสมบัติระหว่างชาติตามอนุสัญญากรุงมาดริค จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยหรือไม่จึงมิใช่ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาทำนองเดียวกันเป็นประการต่อไปว่า เครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 และสินค้าของจำเลยที่ 2 อย่างเห็นได้ชัดคือ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เป็นรูปประดิษฐ์ลักษณะคล้ายกล้องยาเส้น ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 2มีอักษรโรมัน ลองฮอร์นและมีตัวประดิษฐ์อักษรเอสอยู่ที่ลิ้นรองเท้าและข้างในลิ้นรองเท้ามีอักษรโรมันคำว่า สตาร์ไล้ท์ ส่วนของโจทก์เป็นรูปประดิษฐ์ลายเส้นรองเท้าและรูปแถบโค้งประดิษฐ์ประกอบกับอักษรโรมันคำว่า PUMA ฎีกาข้อนี้ของจำเลย ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 115815 และ 115816ตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำขอแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้ง 2 แบบที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีลักษณะเหมือนกล้องยาเส้นหงายขึ้นกับตะขอหงายซึ่งเมื่อพิจารณาตามรูปเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็เห็นได้ชัดว่าแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เฉพาะเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 115815, 115816 ของจำเลยที่ 1จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนได้ แต่ตามวัตถุพยานคือรองเท้าหมาย จ.12 และ จ.21 ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตและจำหน่ายนั้น ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้กับรองเท้าเป็นเครื่องหมายแถบโค้งเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการ ที่จำเลยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมันคำว่าลองฮอร์นและตัวประดิษฐ์อักษรเอสอยู่ที่ลิ้นรองเท้าและข้างในลิ้นรองเท้ามีอักษรโรมันคำว่า สตาร์ไล้ท์ ส่วนของโจทก์เป็นรูปประดิษฐ์ลายเส้นรองเท้าและรูปแถบโค้งประดิษฐ์ประกอบกับอักษรโรมันคำว่า PUMA ซึ่งเป็นการแตกต่างกันนั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้ารองเท้าของโจทก์บางแบบก็มีเฉพาะเครื่องหมายการค้าแถบโค้งอย่างเดียว เช่นรองเท้าตามแบบที่ 65, 135, 283 ในเอกสารหมาย จ.8 และที่ 68, 70 ในเอกสารหมาย จ.9 และภาพด้านหลังของปกหลังของเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งเมื่อดูภาพถ่ายรองเท้าแบบดังกล่าวของโจทก์เปรียบเทียบกับรองเท้าหมาย จ.12, จ.21 ของจำเลยแล้ว เห็นได้ชัดว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้กับรองเท้าของจำเลยเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นรองเท้าหุ้มข้อเช่นแบบที่ 510 ในเอกสารหมาย ล.21 หรือที่เป็นเช่นเดียวกับรองเท้าหมาย จ.12, จ.21 ของจำเลย เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรองเท้าหุ้มข้อของโจทก์แบบที่ 685 หรือ 610, 630, 640 ในเอกสารหมาย จ.8, จ.9แล้ว เห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดเจนว่าจงใจลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพียงแต่มาประทับตัวหนังสืออักษรโรมันว่าLONG HORNไว้ที่หุ้มข้อด้านหลังเหนือแถบโค้งที่เรียวมาบรรจบกันเท่านั้น การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษรโรมันว่า PUMA หรือรูปเสือกำลังกระโจนอยู่เหนือแถบโค้ง ตรงส่วนเรียวของแถบโค้งบ้าง ที่ลิ้นรองเท้าบ้าง ศาลฎีกาเห็นว่าลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือมีรูปแถบโค้งเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเพราะเป็นส่วนที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด และมีรูปตัวอักษรโรมันPUMA หรือรูปเสือกำลังกระโจนเป็นส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบปลีกย่อย เพราะประชาชนมุ่งดูรูปแถบโค้งเป็นที่หมายแห่งสินค้าของโจทก์ยิ่งกว่าดูรูปตัวอักษรโรมัน PUMA หรือรูปเสือกระโจนการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าลักษณะดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันกับของจำเลยหรือไม่ จำต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ ปรากฏตามวัตถุพยานคือรองเท้าหมาย จ.11 ของโจทก์ที่ส่งศาลกับรองเท้าของจำเลยหมาย จ.12, จ.21 ส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นรูปแถบโค้งเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัดแม้ส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบปลีกย่อยจะต่างกัน แต่ส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบปลีกย่อยก็เป็นเพียงตัวอักษรโรมัน คือของโจทก์ใช้คำว่าPUMAของจำเลยใช้คำว่าLONG HORNและใช้ประทับที่หุ้มข้อด้านหลังของรองเท้า ซึ่งมองเห็นได้ยาก นอกจากนี้ ตัวอักษรโรมันดังกล่าวก็ไม่ใช่ส่วนประกอบสำคัญ ทั้งโอกาสที่ประชาชนจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ารองเท้าของโจทก์กับจำเลยย่อมทำได้ยากและประชาชนผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยได้สนใจส่วนที่เป็นตัวอักษรโรมันนี้ คงสนใจเฉพาะเครื่องหมายแถบโค้งซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องหมายการค้า การที่จำเลยนำเครื่องหมายแถบโค้งซึ่งเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาทำให้ปรากฏไว้ที่ข้างรองเท้าของจำเลยที่นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนถือได้ว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อนึ่งเห็นควรกล่าวด้วยว่าการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันมีรูปลักษณะตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 ซึ่งต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่เวลานำมาใช้กับสินค้าที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและจำหน่ายแก่ประชาชนกลับใช้เครื่องหมายการค้าอีกอย่างหนึ่งแตกต่างไปจากที่ขอจดทะเบียนไว้โดยใช้เครื่องหมายการค้าเหมือนกับของโจทก์แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลย และเป็นการจงใจเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการต่อไปว่าตามที่ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนในประเทศไทยมาประมาณ 10 ปีแล้วจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยเป็นการคลาดเคลื่อนต่อความจริง เพราะโจทก์ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 108107 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2522และขอจดทะเบียนคำขอเลขที่ 126165 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2525 นั้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายเข้าใจปัญหาข้อนี้คลาดเคลื่อนเองทั้งนี้เนื่องจากได้ความชัดจากคำนายวรวิทย์พยานโจทก์ว่าได้สั่งรองเท้ายี่ห้อพูม่าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยเป็นตัวแทนจำหน่ายตั้งแต่ปี 2520 แต่ก่อนนั้นมีคนนำรองเท้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายก่อนแล้วโดยเห็นรองเท้าของโจทก์มีจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 10 ปีแล้ว กรมตำรวจก็เคยสั่งรองเท้าของโจทก์เข้ามาใช้ แสดงให้เห็นว่าการสั่งรองเท้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้กระทำมาประมาณ 10 ปีแล้ว (นับถึงวันที่พยานเบิกความต่อศาลคือวันที่ 5 กรกฎาคม 2526) ส่วนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเป็นคนละตอนกัน กล่าวคือ โจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย 2 คำขอตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2525 และ 19 มิถุนายน 2522 ตามลำดับศาลอุทธรณ์จึงหาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนดังที่จำเลยที่ 2ฎีกาไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาในประการสุดท้ายว่า กรณีของโจทก์คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนยันตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนโดยเห็นว่ารูปประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นเพียงแถบลวดลวดซึ่งประดับบนสินค้ารองเท้า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 19 เบญจ วรรคสามแล้วนั้น ปรากฏว่าปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 115815 และเลขที่ 115816 ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share