แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับของโจรเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อค้ากำไรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยรับซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกลางโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อขายหรือแลกเปลี่ยนอันเป็นการแสวงหาผลกำไรเป็นปกติธุระ การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง และสั่งคืนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกลางแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 6 ปี คืนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกลางแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสองเครื่องของบริษัทนำแสงจักรกล จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทซีโร่ – จี จำกัด ไป ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 จำเลยซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวจากดาบตำรวจสุโกมลในราคา 360,000 บาท
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยรับซื้อไว้โดยสุจริตไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทซีโร่ – จี จำกัด เช่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองเครื่องจากผู้เสียหายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุเพียง 1 เดือนเศษ โดยประเมินราคาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองเครื่องไว้รวมกันเป็นมูลค่า 900,000 บาท ทั้งจำเลยเองก็เบิกความรับว่า ในวันที่จำเลยไปตรวจสอบสภาพเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าว ดาบตำรวจสุโกมลเสนอขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองเครื่องแก่จำเลยในราคา 700,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับที่ผู้เสียหายประเมินราคาไว้ นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำให้การในชั้นสอบสวนของนายพิสิฐว่า ก่อนเกิดเหตุพยานกับจำเลยเคยเดินทางผ่านบริษัทซีโร่ – จี จำกัด จำเลยชี้ให้พยานดูเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกลางและบอกว่า หากพยานลักมาทาสีใหม่แล้วขายให้จำเลย จำเลยจะรับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทเศษ หลังจากที่พยานลักเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองเครื่องได้แล้ว พยานได้ทาสีใหม่ทับสีเดิมและบอกขายให้จำเลย จำเลยตรวจดูเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวแล้วจำได้ว่าเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่จำเลยเคยเห็นอยู่ที่บริษัทซีโร่ – จี จำกัด และรู้ดีว่าพยานลักเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองเครื่องมาจากบริษัทนั้น จำเลยจึงรับซื้อไว้ในราคาถูกกว่าปกติ คำให้การในชั้นสอบสวนของนายพิสิฐเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยรับซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองเครื่องโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของนายพิสิฐมาคำนึงประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกลางในราคาถูกกว่าที่ควรแล้วเชื่อว่าจำเลยซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยรับซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกลางโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อขายหรือแลกเปลี่ยนอันเป็นการแสวงหาผลกำไรเป็นปกติธุระ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1