คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบการงานของจำเลยจะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในการกระทำที่จัดการงานให้จำเลยได้หรือไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
ตามบทบัญญัติ มาตรา 44 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้การตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน นั้น หมายความเฉพาะการตั้งตัวแทนหรือนายหน้าเพื่อให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เท่านั้น ส่วนการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี แม้จะถือว่าเป็นการตั้งตัวแทน ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นอำนาจทั่วไปที่บุคคลมีอยู่ตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย ในจำนวนหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายอันเนื่องมาจากหนี้สินที่มีอยู่นั้นได้บทบัญญัติมาตรา 175(4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เป็นเรื่องความรับผิดทางอาญาของตัวแทนในกิจการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้ จำเลยจะนำมากล่าวอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดดังกล่าวหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ ได้ยื่นคำขอเปิดบัญชีเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไว้กับโจทก์ 3 ครั้ง ครั้งแรกวงเงิน405,000 บาท โดยจำเลยทำสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ 135,000บาท ครั้งที่ 2 วงเงิน 630,000 บาท ทำสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ 212,720 บาท ครั้งที่ 3 วงเงิน 200,000 บาท ทำสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ 67,306 บาท จำเลยได้ทำการซื้อขายหุ้นผ่านโจทก์หลายครั้ง มีการหักทอนบัญชีในลักษณะบัญชีเดินสะพัด การคิดบัญชีครั้งสุท้ายจำเลยเป็นหนี้โจทก์ เป็นเงินรวม 7,279,544.75 บาท เป็นค่าดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี เป็นเงิน859,540.07 บาท ต่อมาได้ตกลงหักทอบบัญชี โดยจำเลยขายหุ้นให้แก่โจทก์ ได้เงิน 1,542,200 บาท เมื่อนำไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่จึงเป็นเงิน 5,737,344.75 บาท พร้อมดอกเบี้ย 859,540.07 บาทโจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย จึงบังคับจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินขายทอดตลาดได้เงิน 447,210.37 บาทได้นำเงินดังกล่าวไปหักหนี้ และได้ขายหุ้นที่โจทก์ซื้อตามคำสั่งของจำเลยไปหักหนี้ด้วยรวมเป็นเงินที่จำเลยค้างชำระ 8,460,963.60 บาท ก่อนฟ้องคดีได้ให้ทนายความทวงถามเป็นหนังสือสองครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป
จำเลยให้การว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่มีผลตามกฎหมายขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาข้อที่ 1 ว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะหรือไม่ และฎีกาข้อที่ 2 ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบการงานของจำเลยจะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในการกระทำที่จัดการงานให้จำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวทั้งสองข้อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยมีอำนาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ปัญหาข้อที่ 1 เรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทน พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 44 วรรคแรก บัญญัติว่า ‘การตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน’ เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้บังคับเพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นพิเศษ การตั้งตัวแทนหรือนายหน้าตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความถึงเฉพาะการตั้งตัวแทนหรือนายหน้าเพื่อให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เท่านั้น ที่จะต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ส่วนการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแม้จะถือว่าเป็นการตั้งตัวแทน ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นอำนาจทั่วไปที่บุคคลมีอยู่ตามกฎหมาย การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นโมฆะ
ปัญหาข้อที่ 2 โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้หรือไม่จำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยซึ่งต้องรับผิดเช่นเดียวกับลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา175(4) จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายมิได้ ข้อนี้เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 175(4) ที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น เป็นความรับผิดทางอาญาของตัวแทนในกิจการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายในจำนวนหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายอันเนื่องมาจากหนี้สินที่มีอยู่นั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย.

Share