คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มาตรา 112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจกักของในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระค่าอากรเพื่อประโยชน์ในอันที่จะจัดเก็บภาษีอากรได้รวดเร็วสมความมุ่งหมาย แม้จะไม่ใช่สินค้ารายเดียวกันกับที่ยังค้างชำระค่าอากรอยู่ก็ตามดังนั้น เมื่อโจทก์ต้องชำระภาษีอากรที่ถูกเรียกเก็บเพิ่มสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาครั้งก่อนและรับของไปแล้วแต่โจทก์ไม่ยอมชำระ จำเลยจึงไม่ยอมรับตรวจสอบรับรองตามระเบียบพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้ารายใหม่ที่โจทก์นำเข้า เพื่อโจทก์จะได้เสียภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระในส่วนที่ขาดไปสำหรับการนำเข้าครั้งก่อนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำสินค้าเวชภัณฑ์ คือยาจีนสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 73 หีบ เรือเข้าถึงท่ากรุงเทพฯ โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าแล้วได้ยื่นใบขนสินค้าให้พนักงานของจำเลยตรวจสอบรับรองตามระเบียบพิธีการศุลกากรเพื่อโจทก์จะได้ชำระภาษีแล้วรับของจากจำเลย แต่พนักงานของจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับใบขนสินค้าของโจทก์เพื่อตรวจสอบและเก็บภาษีอากรตามกฎหมาย โดยอ้างว่าโจทก์ค้างค่าภาษีอากรสำหรับของที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าเลขที่ 119-1868 ซึ่งนำเข้าเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2519 ทำให้โจทก์ไม่สามารถยื่นใบขนสินค้าชำระภาษีนำของออกได้ การกระทำของจำเลยขัดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 3 มาตรา 10 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 113และมาตรา 40 ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรับปฏิบัติพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งกักของของโจทก์ซึ่งกำลังผ่านพิธีการศุลกากรโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 เบญจเพราะเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่าครั้งก่อนโจทก์ได้นำสินค้าเข้าในราชอาณาจักรและได้สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันแท้จริงทำให้อากรขาดไป 682,794.97 บาท รวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงินรวม723,000.43 บาท โจทก์จะต้องชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวให้ครบถ้วนเสียก่อน จำเลยจึงจะตรวจปล่อยสินค้ารายใหม่ได้ ขอให้ยกฟ้องศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์ได้นำยาจีนสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 73 หีบ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2529โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวแล้ว จึงไปยื่นใบขนสินค้าให้พนักงานของจำเลยรับรองตามระเบียบพิธีการศุลกากร เพื่อชำระภาษีและรับของจากจำเลย แต่พนักงานของจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับใบขนสินค้าของโจทก์เพื่อตรวจสอบและเก็บภาษีอากรตามกฎหมาย โดยอ้างว่าโจทก์ค้างชำระภาษีอากรสำหรับสินค้าที่โจทก์ได้นำเข้ามาตามใบขนเลขที่ 119-1868 ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งสินค้าของโจทก์ดังกล่าวคือเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลก จำนวน 12 หีบห่อซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีอากรโดยเสียอากรขาเข้าเป็นเงิน 193,648.68 บาทภาษีการค้า 13,692.32 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 1,369.23 บาทไว้แล้ว ต่อมาภายหลังจำเลยอ้างว่าโจทก์สำแดงราคาขาดไป โจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้น 723,000.43 บาท จำเลยทวงถามแล้วโจทก์ไม่ยอมชำระ จำเลยจึงมีคำสั่งให้ด่านศุลกากรต่าง ๆของจำเลยกักของใด ๆ ของโจทก์ซึ่งกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอยื่นใบขนสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อนำของออกจากอารักขาศุลกากรอีกจำเลยก็ไม่ยอม
คดีมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยมีอำนาจกักสินค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามความในมาตรา 112 เบญจแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจกักของในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระค่าอากรทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะจัดเก็บภาษีอากรได้รวดเร็วสมความมุ่งหมาย แม้จะไม่ใช่สินค้ารายเดียวกันกับที่ยังค้างชำระค่าอากรอยู่ก็ตาม การที่จำเลยใช้อำนาจกักสินค้าเวชภัณฑ์ยาจีนสำเร็จรูปจำนวน 73 หีบ ของโจทก์ไว้โดยอ้างว่าโจทก์จะต้องชำระภาษีอากรที่จำเลยเรียกเก็บเพิ่มสำหรับสินค้าเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลกที่โจทก์ได้นำเข้าเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2519 และรับของไปแล้วให้จำเลยเสียก่อนจึงจะปล่อยสินค้าตามฟ้องให้โจทก์ จำเลยจึงมีอำนาจทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 15 ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นใบขนสินค้ารายใหม่ซึ่งได้ชำระราคาแล้วเพื่อให้พนักงานของจำเลยตรวจสอบรับรองตามระเบียบพิธีการศุลกากร เพื่อโจทก์จะได้เสียภาษีอากรตามฟ้องโดยที่โจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรในส่วนที่ขาดไปดังกล่าวให้ครบถ้วนเสียก่อน จำเลยไม่ยอมรับจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share