คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พยานบุคคลที่เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม ย่อมรับฟังความเห็นนั้นประกอบกับข้อความที่อ้างว่าเป็นหมิ่นประมาทได้ พระบรมมหาราชวัง เป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมราชินี เป็นที่ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาพระราชโอรสทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปในเมื่อแผ่นดินว่างกษัตริย์ ลงคนภายนอกจะมาเกิดในพระบรมมหาราชวัง มิได้ ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวต่อประชาชนว่าถ้าจำเลยเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้งแต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯสยามมงกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าว จะเป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย ซึ่งปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับประมวลกฎหมายอาญาอย่างแจ้งชัดว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไปแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯตลอดมาตั้งแต่โบราณกาลการที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกินเปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการและเลขาธิการพรรคการเมือง ได้กล่าวต่อประชาชนเพื่อช่วยหาเสียงให้แก่สมาชิกพรรคการเมืองของตนมีความว่า ถ้าเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระไม่ต้องมายืนตากแดด พูดให้ประชาชนฟังถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีบ่ายสามโมงพอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจ เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาททรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใด ๆ ต่างกับจำเลยที่เป็นลูกชาวนา ต้องทำงานหนัก ซึ่งข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงจึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำดังกล่าวของจำเลยจะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวนั้นก็ตาม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จะถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเองมิได้ ต้องพิจารณาจากข้อความที่จำเลยกล่าวทั้งหมด การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่าไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง การที่จำเลยเป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน หลังจากเกิดเหตุแล้วยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลของพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปรานีลดโทษให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้และในปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวในรัชการปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาทอันประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันคือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลาจะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไมถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ ก็มันเลือกเกิดไม่ได้อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาททั้งนี้เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี สำหรับคนที่จะเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวังและเป็นพระองค์เจ้านั้นจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์และเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นรัชทายาทเท่านั้น ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้า มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท ดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นการกล่าวต่อนายศิว์ณัฏฐพงศ์ วัฒนาชีพ และประชาชนอีกหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า ทุกพระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ทรงทำอะไร ตอนเที่ยงก็เข้าห้องเย็น (หมายถึงห้องที่มีเครื่องทำความเย็น) เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ไม่ต้องออกไปยืนกลางแดด ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาทเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาในวันเวลาดังกล่าวข้างต้นภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้จำเลยได้กล่าวว่าถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารซึ่งเป็นองค์รัชทายาททั้งนี้เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี บุคคลที่เกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวัง และเป็นพระองค์เจ้านั้น จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรัชทายาทเท่านั้น ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังเป็นพระองค์เจ้า มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาทดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นการกล่าวต่อร้อยตำรวจโทวิเชียรเฉลิมรมย์ และประชาชนอีกหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า พระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ต้องมาพูดให้ประชาชนฟังจนคอแหบคอแห้ง ขณะนี้เป็นเวลาหกโมงครึ่ง (หมายถึงเวลาหกโมงครึ่งตอนเย็น) จะได้เสวยน้ำจัณฑ์ (สุรา) ให้สบายอกสบายใจ ขณะที่ยืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์ (หมายถึงแข้ง) เต็มทีแล้ว ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 6 นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26228/2528 ของศาลแขวงพระนครเหนือและคดีอาญาหมายเลขดำที่ 22128/2528 ของศาลแขวงพระนครใต้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นการใส่ความและไม่อาจทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี คำขอให้นับโทษต่อให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีจึงให้งดเสีย ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นรัชกาลที่ 9ในราชวงศ์จักรี มีพระบรมราชินีทรงพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ส่วนองค์รัชทายาทคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13กรกฎาคม 2529 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยได้กล่าวปราศรัยในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่หน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพูดทางเครื่องขยายเสียงมีประชาชนมาฟังประมาณ 4-5 พันคน ในคำปราศรัยของจำเลยตอนหนึ่ง จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไมถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมงที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้ เลือกเกิดในท้องคนจนก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดในท้องคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เลือกเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ไม่ได้ ปรากฏข้อความตามแถบบันทึกเสียงหมาย จ.2และคำถอดแถบบันทึกเสียงเอกสารหมาย จ.8 ในวันเดียวกันหลังจากที่จำเลยได้ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศแล้ว จำเลยได้ไปกล่าวปราศรัยที่หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ต่อหน้าประชาชนที่มาฟังประมาณ 1หมื่นคน มีข้อความตอนหนึ่งว่า ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ปรากฏข้อความตามแถบบันทึกเสียงหมาย จ.3 และคำถอดแถบบันทึกเสียงเอกสารหมาย จ.9 คำกล่าวปราศรัยของจำเลยทั้งสองแห่งเป็นการกล่าวตำหนิล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทั้งนี้ คำที่จำเลยกล่าวถึงพระบรมมหาราชวัง มีความหมายถึงพระบรมมหาราชวังใหญ่อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นที่ประสูติและที่สวรรคตด้วยพระบรมมหาราชวังนี้นอกจากจะหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์แล้วย่อมหมายถึงพระราชินีและองค์รัชทายาทด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท แม้จะประสูติที่ใดก็ให้ถือว่าประสูติในพระบรมมหาราชวังส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ แม้จะไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังที่ประทับนั้นก็ให้ถือว่าเป็นพระบรมมหาราชวังด้วย ฉะนั้นเมื่อประชาชนได้ยินคำพูดถึงพระบรมมหาราชวังก็จะนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะประสูติทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า ดังนั้นพระองค์เจ้าที่เกิดในพระบรมมหาราชวังจึงหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศว่า ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็นเสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง มีความหมายว่าทั้งสามพระองค์มีความเป็นอยู่สุขสบาย การงานไม่ต้องทำ พักผ่อนกันตลอดไป ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอสตึกว่าถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ ข้อความนี้หมายความว่า ทั้งสามพระองค์อยู่อย่างสะดวกสบาย ดื่มสุราเพื่อความสำราญผิดกับประชาชนธรรมดาที่ต้องทนกรำแดดกรำฝน ไม่มีเวลาพักผ่อน คำว่า บรรทม น้ำจัณฑ์ และพระชงฆ์เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมเหสี หรือองค์รัชทายาทซึ่งความจริงแล้วทั้งสามพระองค์มิได้เป็นอย่างที่จำเลยว่าพระองค์มีพระราชภารกิจอยู่มากมายและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและความมั่นคง ความอยู่สุขของประชาราษฎร์พระราชภารกิจประจำวันของพระองค์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่จำเลยว่าการกล่าวเช่นนี้ทำให้พระองค์ได้รับความเสียหาย เป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนขาดความเคารพสักการะถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งตามปกติพระองค์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนผู้ใดจะล่วงเกินมิได้การที่จำเลยกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวอย่างมีเจตนาโดยเมื่อจำเลยพูดในตอนบ่าย ก็ยกตัวอย่างในช่วงตอนบ่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ในตอนบ่ายครั้นถึงตอนเย็นจำเลยก็ยกตัวอย่างเกี่ยวกับพฤติการณ์ตอนเย็นซึ่งเรื่องนี้หากจำเลยไม่ตั้งใจ จำเลยก็จะพูดเพียงครั้งเดียวแล้วไม่พูดอีกแต่จำเลยพยายามที่จะดัดแปลงข้อความในการพูดทั้งสองครั้งให้เข้ากับบรรยากาศในเวลาที่กำลังพูด ต่อมาประชาชนบางกลุ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะเดินขบวนประท้วงการกระทำของจำเลยซึ่งจะเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง สมาชิกวุฒิสภาและนายทหารราชองค์รักษ์ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นญัตติไปยังประธานรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ.13 หรือ ป.จ.1 ให้รัฐบาลแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าได้ดำเนินการไปอย่างไร เพื่อประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริง จำเลยได้ติดต่อขอทำความเข้าใจกับผู้ที่ยื่นญัตติโดยจำเลยยอมรับว่าได้มีการกล่าวข้อความดังกล่าวจริง และในที่สุดจำเลยได้ทำพิธีขอขมา โดยกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภาตามข้อความในเอกสารหมาย จ.14 หรือ ป.จ.2 ต่อหน้าสื่อมวลชนและสมาชิกวุฒิสภาที่ยื่นญัตติ การที่จำเลยได้กระทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพโดยความสมัครใจต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามเอกสารหมาย จ.15 หรือ ป.จ.4
จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ศึกษาอยู่นั้นจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ และเป็นหัวหน้าทีมโต้วาทีของมหาวิทยาลัยหลายปีติดต่อกัน หลังจากจบการศึกษาแล้ว จำเลยประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไทยรัฐ มติชนและชาวไทย โดยเริ่มงานเป็นผู้สื่อข่าวการเมือง และเขียนบทความการเมืองประจำ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2517 จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในกรุงเทพมหานครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร2 ครั้ง และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุงอีก 3 ครั้งติดต่อกันระหว่างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2519 จำเลยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2524 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2525 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526เป็นต้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งในพรรคการเมืองจำเลยเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ต่อมาได้เป็นกรรมการบริหารในตำแหน่งโฆษกพรรคและครั้งหลังสุดเป็นเลขาธิการพรรค ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่มีบทบาทในการหาเสียงคือหัวหน้าพรรคนายชวน หลีกภัย นายมารุต บุนนาค และตัวจำเลย เกี่ยวกับคดีนี้เนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 จำเลยในฐานะเลขาธิการพรรคต้องเดินทางไปช่วยหาเสียงให้แก่ลูกพรรคทั่วประเทศ ในจังหวัดบุรีรัมย์พรรคประชาธิปัตย์ส่งสมาชิกลงสมัครในเขตเลือกตั้งทุกเขตเขต 1 มีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างหาเสียงนั้นจำเลยได้รับรายงานจากนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ทำให้คู่แข่งขันหวั่นวิตกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้ง คู่แข่งขันจึงระดมกันโจมตีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ โดยการปราศรัยและออกใบปลิวแจกจ่ายแก่ประชาชนอ้างว่าชาวบุรีรัมย์ควรเลือกคนบุรีรัมย์เป็นผู้แทนราษฎรนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นคนเกิดที่กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกเศรษฐีจึงไม่ควรเลือกนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดบุรีรัมย์ข้อกล่าวหานี้ทำให้นายพรเทพ เตชะไพบูลย์วิตกว่าอาจจะทำให้คะแนนเสียงลดลงหรือทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้งจำเลยจึงรับที่จะแก้ไขให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 จำเลยได้ไปช่วยหาเสียงให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์และนายการุณ ใสงามเฉพาะในเขต 1 จำเลยไปปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกส่วนเขตของนายการุณ ใสงาม จำเลยปราศรัยที่หลังสถานีรถไฟอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ข้อความที่ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกจำเลยปราศรัยถึงเรื่องการเมืองและปัญหาสังคมและอธิบายถึงหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่แท้จริงให้ประชาชนได้เข้าใจเมื่ออธิบายถึงหน้าที่ของผู้แทนราษฎรแล้ว จำเลยได้อธิบายถึงคุณสมบัติของผู้สมัครของพรรคว่านายพรเทพ เตชะไพบูลย์ มีวุฒิทางการศึกษาสูงจบจากต่างประเทศมีฐานะส่วนตัวดี อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือประชาชนได้และได้ขอร้องประชาชนว่าอย่าถือเอาที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดเองได้ โดยจำเลยกล่าวว่าแม้ตัวจำเลยเองเมื่อปี พ.ศ. 2524 ไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดพัทลุง ก็ถูกคู่แข่งขันโจมตีในลักษณะนี้มาแล้ว โดยถูกโจมตีว่าเป็นคนเกิดที่จังหวัดสงขลาแล้วมาลงสมัครผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพัทลุง ขอให้ประชาชนชาวพัทลุงต่อต้านอย่าเลือกจำเลยเป็นผู้แทนราษฎร ในครั้งนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดพัทลุงคนหนึ่งคือนายพร้อม บุญฤทธิ์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวปราศรัยแก้แทนจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัคร จำเลยเล่าให้ประชาชนฟังเหมือนกับที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกปรากฏตามข้อความในเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ข้อความในเอกสารหมายจ.8 และ จ.9 ซึ่งขีดเส้นใต้ที่โจทก์นำมาฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดนั้นจำเลยพูดโดยมีเจตนาจะแก้ข้อที่ว่าคนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถที่จะเลือกทำความดีได้ และการเลือกผู้แทนราษฎรให้ดูว่าเขามีความสามารถทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ไม่ถือเอาที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการที่จำเลยยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพูดเป็นเรื่องอุปมาอุปไมย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจชัดว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้จริง ๆ จะเลือกเกิดเป็นคนจนก็ไม่ได้จะเลือกเกิดเป็นคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้จะเลือกเกิดที่บุรีรัมย์ก็ไม่ได้ จำเลยไม่ได้มุ่งที่จะเปรียบเทียบหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาทแต่อย่างใดคำว่าถ้าเลือกเกิดได้นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติตัวเองขึ้น และคำว่าพระองค์เจ้าวีระนั้นจำเลยหมายถึงตัวจำเลยเอง เป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติขึ้น และที่ว่าเป็นพระองค์เจ้าวีระแล้วจำเลยจะบรรทมตื่นสายนั้น จำเลยหมายถึงตัวจำเลย ไม่ได้เปรียบเทียบกับพระองค์อื่นใด ที่โจทก์อ้างว่าพระบรมมหาราชวังหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินีและองค์รัชทายาทนั้น เป็นการตีความที่บิดเบือน เพราะเป็นการเอาวัตถุมาหมายถึงบุคคลซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หนังสือพระราชวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) ตามเอกสารหมาย ป.จ.33 ให้ความหมายคำว่า พระบรมมหาราชวังคือศูนย์กลางของการปกครอง และที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คนทั่วไปมีความเข้าใจว่า พระบรมมหาราชวังหมายถึงบริเวณพระราชวังซึ่งอยู่ที่วัดพระแก้ว และเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ ความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ไม่ได้ประทับที่พระบรมมหาราชวังหากแต่ประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มิได้ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประสูติที่พระที่นั่งอัมพรสถาน และคำว่าพระองค์เจ้าที่โจทก์กล่าวหาว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและองค์รัชทายาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ มีน้อยคนที่จะทราบว่าความจริงแล้วพระองค์ทรงพระอิสริยยศเป็นอะไร ตามตำราของกระทรวงศึกษาธิการตามเอกสารหมาย ล.10 ปรากฏว่าเดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้า จึงเข้าใจตลอดมาว่าพระอนุชาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นหม่อมเจ้าด้วยหาใช่พระองค์เจ้าไม่ ฐานันดรเดิมของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเป็นหม่อมราชวงศ์ พระองค์ไม่เคยทรงฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อตอนประสูติก็ทรงฐานันดรเป็นเจ้าฟ้า ไม่เคยทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า เมื่อเอ่ยคำว่าพระองค์เจ้าลอย ๆ ไม่ระบุชื่อ จะไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด เมื่อระบุชื่อลงไปด้วยจึงจะทราบว่าหมายถึงใคร ที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปประทับที่ไหน ก็ให้ถือว่าที่นั่นเป็นพระบรมมหาราชวังนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการบัญญัติถ้อยคำขึ้นเองเพื่อลงโทษจำเลย คำราชาศัพท์ที่ว่าบรรทม ตื่นสาย เสวยน้ำจัณฑ์ เมื่อยพระชงฆ์นั้น เป็นราชาศัพท์ที่คนทั่วไปรู้ว่าใช้ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป สำหรับความรู้สึกของประชาชนต่อการที่จำเลยกล่าวปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกทั้งหมดนั้นประชาชนรู้สึกเฮฮาสนุกสนาน ไม่มีปฏิกิริยาประท้วงหรือลุกขึ้นเดินหนีแต่ประการใดจำเลยกล่าวปราศรัยให้นายการุณ ใสงามที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จำเลยก็ไม่ได้กล่าวข้อความที่โจทก์ฟ้องเพราะในเขตเลือกตั้งนั้นไม่มีการกล่าวโจมตีนายการุณ ใสงาม ในประเด็นเดียวกันกับนายพรเทพ เตชะไพบูลย์หลังจากจำเลยกล่าวคำปราศรัยแล้วทั้งสองแห่ง ไม่มีประชาชนไปแจ้งความเรื่องที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อมานายเชิดชัย เพชรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานคร ได้ไปแจ้งความนายศิว์ณัฎฐพงศ์พยานโจทก์เป็นผู้แทนของพรรคสหประชาธิปไตยและนายจรูญ นิ่มนวล เป็นหัวคะแนนของพรรคสหประชาธิปไตยซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ การที่นายเชิดชัยเพชรพันธ์ไปแจ้งความก็เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อทำลายคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ หลังการเลือกตั้งจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มีการปลุกระดมกลุ่มมวลชนต่าง ๆ โดยเริ่มจากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายทหารทำการปลุกระดมในกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ท.ส.ป.ช. และกลุ่มกระทิงแดงเพื่อเร่งรัดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แรกเริ่มเกิดเรื่องนี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปให้กรมตำรวจพิจารณาก่อนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนเบื้องต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่าไม่มีความผิด ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112จึงส่งเรื่องให้กรมตำรวจ ทางกรมตำรวจได้ให้พลตำรวจตรีสุภาสจีรพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องกฎหมายในสถานการณ์เลือกตั้งพิจารณาเรื่องนี้พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ ได้ประชุมพิจารณาและทำความเห็นไปยังอธิบดีกรมตำรวจว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112 จึงให้ระงับเรื่อง แต่ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนเริ่มลุกฮือเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ในที่สุดกรมตำรวจได้สั่งการให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยให้ถือว่าคดีพอมีมูลที่จะฟ้องร้องได้ ทั้งนี้จริง ๆ แล้วเพื่อแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองเมื่อมีความกดดันดังกล่าวจำเลยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออกโดยไม่มีใครบังคับ ทั้งนี้เพื่อเจตนาที่จะแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองและปกป้องรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย ที่จำเลยกล่าวขอขมาในห้องรับรองของรัฐสภาต่อพระบรมสาทิสลักษณ์นั้นจำเลยไม่ได้ยอมรับผิดเหตุที่จำเลยไปขอขมาเนื่องจากพลโทวัฒนชัย วุฒิศิริ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อแก้ปัญหา โดยให้จำเลยไปพบพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้นจำเลยก็ได้ไปพบตามที่นัดหมาย และได้พูดคุยทำความเข้าใจจนชัดแจ้งว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเจตนาที่จำเลยปราศรัยที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ และไม่ได้มีเจตนาอย่างที่ฝ่ายค้านหรือทางทหารเข้าใจ พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ก็เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างและจะเลิกรากันไป แต่มีปัญหาว่าญัตติที่พลโทพิจิตรกุลละวณิชย์ ยื่นไว้ต่อวุฒิสภากล่าวหาว่าจำเลยละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะถอนญัตติจะอธิบายแก่ประชาชนอย่างไร เพราะประชาชนอาจมองไปในแง่ไม่ดี จำเลยบอกว่าจะให้ทำอย่างไรก็ยินดี พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ จึงเชิญสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเจ้าของญัตติมาพบพร้อมกันที่สภา ขอให้จำเลยกล่าวคำขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ จำเลยจึงกล่าวขอขมาเพื่อให้ผู้ยื่นญัตติทุกคนสบายใจ และเพื่อให้กลุ่มมวลชนที่กำลังลุกฮือสลายตัวไป ทั้งนี้โดยการแสดงออกถึงความจริงใจของจำเลยในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนคำกล่าวของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่า จะผิดหรือไม่ผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในประเด็นข้อกฎหมายจะไม่พูดถึง ทั้งนี้เพราะจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องของศาลและถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทจำเลยก็พร้อมที่จะขอพระราชทานอภัย สำหรับคำกล่าวขอพระราชทานอภัยตามเอกสารหมาย ป.จ.2 นั้น กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดพิมพ์แล้วใส่ซองมาให้จำเลยกล่าว ไม่ใช่เป็นการรับสารภาพ เพราะจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลจำเลยมีสาเหตุขัดแย้งกับพยานโจทก์ คือ นายสิงห์โต จ่างตระกูลนายสรวง อักษรานุเคราะห์ นายชวลิต รุ่งแสง พลโทพิจิตรกุลละวณิชย์ และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก เป็นการพูดหลายครั้งเป็นการกระทำโดยเจตนานั้น ไม่เป็นความจริงเพราะจำเลยไม่มีเจตนาจำเลยเป็นรัฐมนตรี เห็นว่าสิ่งใดผิดจะไม่พูด และขณะนั้นเป็นช่วงหาเสียงต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน หากพูดสิ่งที่ประชาชนโกรธและเกลียดก็จะไม่ได้คะแนนเสียง จำเลยเข้าใจอย่างซาบซึ้งว่าทุกพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยยากที่บุคคลธรรมดาจะปฏิบัติได้ และการที่นายสุจินต์ ทิมสุวรรณอธิบดีกรมอัยการมีคำสั่งให้พนักงานอัยการพิเศษ 2 นายเป็นผู้ดำเนินคดีนี้เฉพาะเรื่อง ก็เพราะมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยเนื่องมาจากเรื่องคดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต สำหรับคดีที่จำเลยถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือและศาลแขวงพระนครใต้ซึ่งโจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลทั้งสองได้พิพากษายกฟ้องแล้ว
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ได้ไปกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่อำเภอลำปลายมาศ และที่อำเภอสตึกจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อช่วยหาเสียงให้แก่นายพรเทพ เตชะไพบูลย์สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต 1 ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 คำปราศรัยของจำเลยที่กล่าวที่อำเภอลำปลายมาศซึ่งได้มีการบันทึกเสียงไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟังเวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ ก็มันเลือกเกิดไม่ได้” คำปราศรัยของจำเลยที่กล่าวที่อำเภอสตึกซึ่งได้มีการบันทึกเสียงไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบ คอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์ เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ” การก

Share