คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2145/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจูงรถจักรยานยนต์ของบุคคลอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ไปจากที่จอดรถหน้าสถานีตำรวจ โดยไม่มีเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดได้ว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปทันขณะจำเลยกำลังจูงรถจักรยานยนต์อยู่ จำเลยก็ไม่ได้โต้เถียงว่าเป็นรถจำเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบอนุญาตขับขี่และสำเนาทะเบียนรถจำเลยก็ไม่มีแสดง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปโดยเจตนาทุจริต

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142, 335(1)(8) ดังที่โจทก์ฟ้อง ลงโทษตามมาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 5 ปี จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเข้าใจผิดคิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของจำเลย จึงขาดเจตนา พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า จำเลยเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยเจตนาทุจริตหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ได้ความว่าสิบตำรวจโทสถาพร อารยภิชาติ เห็นจำเลยจูงรถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งเป็นรถที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ไปจากที่จอดรถหน้าสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงจึงรายงานให้ร้อยตำรวจเอกอารักษ์ ชิณโชติ ทราบร้อยตำรวจเอกอารักษ์ จึงให้สิบตำรวจโทสถาพรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ติดตามไป สิบตำรวจโทสถาพรกับพวกตามไปทันจำเลยในซอยอ่อนนุช ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีตำรวจดังกล่าวประมาณ 400 เมตรขณะจำเลยกำลังจูงรถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ จำเลยไม่ได้โต้เถียงว่านึกว่าเป็นรถของจำเลย แต่พูดว่ารถของจำเลยมีเยอะแยะ ร้อยตำรวจเอกอารักษ์ขอดูใบอนุญาตขับขี่และสำเนาทะเบียนรถ จำเลยไม่มีแสดงจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยเจตนาทุจริต ที่จำเลยต่อสู้คดีว่า เวลาจำเลยจะไปดื่มสุราจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปจอดไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงเมื่อดื่มสุราเสร็จ จะนั่งรถเมล์มาลงที่หน้าสถานีตำรวจดังกล่าวและนำรถกลับบ้าน แต่วันเกิดเหตุนั้น จำเลยไม่ได้นำรถของจำเลยไปจอดจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะไปนำรถของกลางไปจากสถานีตำรวจดังกล่าวที่จำเลยอ้างว่าเคยมีรถจักรยานยนต์ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น ก็เป็นรถคนละยี่ห้อ คนละสีกับรถจักรยานยนต์ของกลางและไม่ใช่รถของจำเลย ส่วนใบอนุญาตขับขี่รถตามเอกสารหมาย ล.2 ก็เป็นใบอนุญาตที่ออกให้แก่จำเลยภายหลังวันเกิดเหตุ ที่จำเลยอ้างว่าก่อนจะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไป จำเลยได้ไปพูดคุยกับจ่าสิบตำรวจประยุทธที่สถานีตำรวจแห่งนั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยรู้จักกับจ่าสิบตำรวจประยุทธในฐานะที่เป็นลูกค้ามาตัดรองเท้ากับจำเลยและรู้จักกันตามธรรมดาเท่านั้น จึงไม่มีเรื่องอะไรที่จำเลยจะต้องไปพูดคุยกับจ่าสิบตำรวจประยุทธที่สถานีตำรวจเมื่อดื่มสุราเสร็จทั้งจะคุยกันเรื่องอะไรจำเลยก็จำไม่ได้ จึงส่อแสดงไปในทางที่ว่าเป็นวิธีการที่จำเลยจะนำรถของกลางไปโดยไม่ให้ผู้ใดเกิดความสงสัยที่จำเลยอ้างว่าเมาสุรามากนั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยเดินจูงรถจักรยานยนต์ของกลางไปจากสถานีตำรวจเป็นระยะทางประมาณ 400 เมตรได้ และเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแล้ว จำเลยก็จูงกลับมาที่สถานีตำรวจได้ จึงแสดงว่าจำเลยไม่ได้จูงรถจักรยานยนต์ของกลางไปเพราะความเมาสุรา ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเข้าใจผิดคิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นรถของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตจึงฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share