แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก 4 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104(2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ให้และศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าว ตามมาตรา 124 ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ด้วย เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ ตามมาตรา122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 3 โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 3 มานั้น เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 2 คน ซึ่งคนหนึ่งเป็นเยาวชนแต่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง และอีกคนหนึ่งมีอายุพ้นเกณฑ์เยาวชนซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย โดยมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83 เมื่อคำนึงถึงอายุประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสภาพของความผิด ประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสามอายุไม่เกิน 17 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 8 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปีจำเลยทั้งสามแม้จะยังเยาว์วัย แต่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นผู้เยาว์ เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยทั้งสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานฝึกอบรมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดคนละ 3 ปี นับแต่วันพิพากษา
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีอนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว วินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 121 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดาเว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีและตามมาตรา 122 บัญญัติว่า ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคและอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป ตามบทกฎหมายดังกล่าวคงมีความหมายว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีสำหรับเด็กและเยาวชนและคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวได้เท่านั้น สำหรับการฎีกานั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 124 บัญญัติว่าคดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นกรณีอุทธรณ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก 4 ปีและให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลย โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ด้วยเพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 3 โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 3 มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 3