คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 มาตรา 5, 7, 29, 30 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจะเข้าดำเนินการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อด้วยตนเองหรือตั้งตัวแทน ตัวแทนค้าต่างเข้าไปดำเนินการแทนก็ได้ หาได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้นไม่ เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ประกาศเรื่องการสำรวจเพื่อการสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบพร้อมทั้งให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนแล้ว จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วนทุกประการ การที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาให้ใช้สิทธิในแนวเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แล้วเข้าไป ขุด วางท่อขนส่งปิโตรเลียมและลำเลียงส่งปิโตรเลียมผ่านทางท่อขนส่งในที่ดินโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสามคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 364, 365 และขอให้นับโทษจำเลยทั้งสิบสามต่อจากโทษของจำเลยทั้งสิบสามในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1687/2543, 1688/2543 และ 1689/2543 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 24637, 24676, 24677, 24678, 24679 และ 422 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2534 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเรื่องการสำรวจเพื่อสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ในเขตท้องที่อำเภอศรีราชา อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี และต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศเรื่องกำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในท้องที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ประกาศเรื่องการดำเนินการก่อสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 กับพวกได้นำเครื่องมือเข้าไปขุดดินในบริเวณที่ดินพิพาททั้งหกแปลงของโจทก์ขุดลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อวางท่อส่งน้ำมันและปิโตรเลียม นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังได้ปักป้ายในบริเวณที่ดินของโจทก์อีกด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามบทบัญญัติ มาตรา 5, 7, 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจะเข้าดำเนินการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อด้วยตนเอง หรือตั้งตัวแทน ตัวแทนค้าต่างเข้าไปดำเนินการแทนก็ได้ หาได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เท่านั้นที่ต้องดำเนินการด้วยตนเองไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการดำเนินการโดยพลการจึงฟังไม่ขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามสัญญาให้ใช้สิทธิในแนวเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่ทำขึ้นโดยถูกต้องตามวิธีการของกฎหมายดังกล่าว เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานได้ประกาศเรื่องการสำรวจเพื่อการสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำโฉนดที่ดินพิพาทไปติดต่อขอรับค่าทดแทนโดยส่งสำเนาประกาศการสำรวจเพื่อการสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามสำเนาประกาศการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สำเนาหนังสือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 สำเนาหนังสือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยลงวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และโจทก์ได้ไปติดต่อเจรจาเรื่องค่าทดแทนที่ดิน กรณีถือได้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้แจ้งการสำรวจการวางท่อปิโตรเลียมให้แก่โจทก์ทราบโดยชอบแล้วตามมาตรา 29 (2) และมาตรา 30 วรรคท้าย และเมื่อโจทก์ทราบประกาศข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 กับพวกสามารถเข้าไปสำรวจขุดที่ดินตลอดจนการวางท่อปิโตรเลียมผ่านที่ดินของโจทก์รวมทั้งปิดป้ายประกาศใด ๆ ลงในที่ดินของโจทก์ได้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิร้องห้ามหรือคัดค้านแต่ประการใด และการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกก็หาได้เป็นการกระทำเกินขอบอำนาจของตนดังที่โจทก์อ้างในฎีกาในประเด็นข้อ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนแห่งกฎหมาย คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง…
พิพากษายืน

Share