คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานธนาคาร อ. กำหนดว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน คณะกรรมการที่จดทะเบียนไว้ สหภาพแรงงานธนาคาร อ. มีคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนไว้ จำนวน 16 คน เมื่อการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงานเข้าร่วมประชุมจำนวน 7 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม คณะกรรมการลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยจึงไม่ชอบจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างจำเลยกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำหนังสือขอให้จำเลยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง จำเลยไม่จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้างโดยอ้างว่ามีข้อขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการลูกจ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้จำเลย จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๐
จำเลยให้การว่า นายประจักษ์ ระงับทุกข์ กรรมการสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียในขณะนั้นได้ทำเรื่อง คัดค้านการ แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างอ้างว่าไม่ชอบด้วยข้อบังคับสหภาพแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้ง สหภาพแรงงานธนาคารเอเชียให้รอผลการวินิจฉัยของกองแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน หากโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบ จำเลยจะจัดให้มีการประชุมร่วมกันตามกฎหมายต่อไป ซึ่งต่อมากองแรงงานสัมพันธ์ได้มีหนังสือตอบข้อหารือว่ามติที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียที่แต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างจำนวน ๑๗ คน ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสหภาพแรงงาน เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยไม่จัดประชุมร่วม ๒ ฝ่าย จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างอยู่ด้วยนั้นชอบด้วยข้อบังคับของสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียหรือไม่ และจำเลยต้องจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างจำเลยกับคณะกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า สหภาพแรงงานธนาคารเอเชียจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะรวม ๑๖ คน มีข้อบังคับ สหภาพแรงงาน นายจักริน เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และนายเนตร เจริญสุข ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยและพ้นสภาพจากการเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน หลังจากกรรมการสหภาพทั้งสองคนพ้นจากสภาพไปแล้วสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ รวมทั้งไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนกรรมการสหภาพแรงงาน ต่อมาสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานและมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างทั้งคณะ โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการลูกจ้างด้วย หลังจากนั้น นายประจักษ์ ระงับทุกข์กรรมการสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียในขณะนั้นได้ร้องทุกข์กล่าวหาว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างไม่ชอบด้วยข้อบังคับสหภาพแรงงาน ประธานคณะกรรมการลูกจ้าง จึงมีหนังสือถึงจำเลยเพื่อจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง จำเลยไม่จัดให้มีการประชุมและมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการลูกจ้างในเรื่องดังกล่าว เห็นว่า ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานธนาคารเอเชียกำหนดว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการที่จดทะเบียนไว้ สหภาพแรงงานธนาคารเอเชียมีคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนไว้ จำนวน ๑๖ คน เมื่อการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงานร่วมเข้าประชุมจำนวน ๗ คน จึงไม่ครบองค์ประชุม คณะกรรมการลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งรวมถึงโจทก์อยู่ด้วยจึงเป็นคณะกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างจำเลยกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share