คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3941/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,137,157,267,268 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 137 และ 267 ด้วย หากแต่เป็นการกระทำ ด้วยเจตนาเดียวคือเพื่อช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวในการ ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานได้ละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ดำเนินการขัดขวางมิให้บุคคล ต่างด้าวขอทำบัตรประจำตัวประชาชนแต่กลับให้ถ้อยคำรับรอง บุคคลต่างด้าวว่ามีสัญชาติไทย อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ อำเภอ ท.และผู้อื่น ซึ่งเป็นกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90คำพิพากษาดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม บทกฎหมายอื่น อันได้แก่มาตรา 137,267 และ 157 ด้วยแต่เป็นกรรมเดียว เพียงแต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทให้เห็น ชัดเจนการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทให้ชัดเจนขึ้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใดบ้างโดยมิได้แก้โทษจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ว.พาท.มาแจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านพ.วันเกิดเหตุนายอำเภอและ ร. ปลัดอำเภอ ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่จำเลยในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนจึงอนุมัติการย้ายเข้าของ ท.ต่อมาวันรุ่งขึ้นท. ได้มาติดต่อขอเปลี่ยนชื่อ ข.เป็น ร. และได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรกเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีการรับรองบุคคล บุคคลที่มารับรองจะเป็นผู้ใดก็ได้ซึ่งรู้จักผู้ยื่นคำขอ มีจำเลยเป็นผู้ให้คำรับรอง ท.และจำเลยเป็นผู้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ท. เมื่อปรากฏความจริงว่า ข.คือ ท. ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าว แต่จำเลยมาให้คำรับรองว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบว่า ท.เป็นบุคคลต่างด้าว ดังนี้ แม้จำเลยจะมีตำแหน่งเป็นเพียงปลัดอำเภอ และมีอาวุโสต่ำกว่าปลัดอำเภออื่น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่รักษาการแทนนายอำเภอเพราะยังมีปลัดอำเภออาวุโสปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ตาม และแม้ตามคำสั่งนายอำเภอที่เกิดเหตุได้มอบหมายงานทะเบียนทั่วไปให้ ร.และมอบหมายงานบัตรประจำตัวประชาชนให้ ส. ส่วนจำเลยเพียงแต่ได้รับมอบหมายงานส่งเสริมการปกครอง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ ไม่ว่าจะโดยการ รักษาการแทนนายอำเภอหรือโดยได้รับมอบหมายจากนายอำเภอก็ตาม แต่หน้าที่ของจำเลยดังกล่าวเมื่อเป็นการมอบหมายภายใน ซึ่ง ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 67 บัญญัติให้ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชี ซึ่งรวมเรียกว่ากรมการอำเภอ แม้มีตำแหน่งต่างกันย่อมมีหน้าที่ และความรับผิดชอบรวมกันในการที่จะให้การปกครองอำเภอนั้น เรียบร้อย ดังนี้ ต้องถือว่าจำเลยซึ่งมีตำแหน่งปลัดอำเภอมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกับนายอำเภอและปลัดอำเภอคนอื่นอยู่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ข้อบังคับที่ 1/2509 ของกระทรวงมหาดไทย ได้วางระเบียบไว้ในการสอบสวนข้าราชการฝ่ายปกครองว่า ต้องมีพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจด้วยเมื่อข้อบังคับดังกล่าวนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ต้องหาที่มีลักษณะพิเศษแห่งข้อบังคับดังกล่าวเท่านั้น เช่น กรณีที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพโดยถูกพนักงานสอบสวนขู่เข็ญ เป็นต้น ซึ่งหากการสอบสวนนั้นไม่มีพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองร่วมด้วย การสอบสวนนั้นย่อมไม่ชอบ และรับฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแต่คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด สิทธิของจำเลยไม่ได้ รับการกระทบกระเทือน ไม่ว่าในชั้นสอบสวนหรือชั้นพิจารณาของศาล ทั้งจำเลยเองก็มิได้กล่าวหาว่าการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ฝ่ายตำรวจดำเนินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนี้ การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 157, 267, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่นางสาวเทให้ถ้อยคำต่อนายสมชาย ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ร่วมให้ถ้อยคำด้วย จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกันแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ แต่การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบว่านางสาวเทเป็นบุคคลต่างด้าวและการที่จำเลยทำการรับรองบุคคลดังกล่าวว่ามีสัญชาติไทยต่อนายสุริยาปลัดอำเภอไทรโยคผู้สอบสวนจึงเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือเพื่อช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและจำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่ดำเนินการขัดขวางมิให้บุคคลต่างด้าวดังกล่าวทำบัตรประจำตัวประชาชนแต่กลับให้ถ้อยคำรับรองว่านางสาวขาวหรือนางสาวเทซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวว่ามีสัญชาติไทย อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่อำเภอไทรโยค กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยเห็นสมควรให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และ 157 อันเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษให้คงเดิม แต่ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้บทลงโทษจำเลยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137และ 267 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 137 และ 267 ด้วยหากแต่เป็นการกระทำด้วยเจตนาเดียวคือเพื่อช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ดำเนินการขัดขวางมิให้บุคคลต่างด้าวขอทำบัตรประจำตัวประชาชน แต่กลับให้ถ้อยคำรับรองนางสาวเทซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวว่ามีสัญชาติไทยอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่อำเภอไทรโยค กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คำพิพากษาดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยกระทำความผิดตามบทกฎหมายอื่นด้วยอันได้แก่มาตรา 137, 267 และ 157 แต่เป็นกรรมเดียวศาลชั้นต้นจึงลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทให้เห็นชัดเจนเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3จึงพิพากษาปรับบทให้ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใดบ้าง โดยมิได้แก้โทษแต่อย่างใดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 นางวินันดาพานางสาวเทมาแจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านนายพลัด สิทธิสุนทร วันนั้นนายอำเภอไทรโยคและนายรัฐพงษ์ สิงหาเมธา ปลัดอำเภอ ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนจึงอนุมัติการย้ายเข้าของนางสาวเท ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2533 นางสาวเทได้มาติดต่อขอเปลี่ยนชื่อนางสาวขาวเป็นนางสาววราภรณ์และได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรกเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีการรับรองบุคคล บุคคลที่มารับรองจะเป็นผู้ใดก็ได้ซึ่งรู้จักผู้ยื่นคำขอ จำเลยเป็นผู้ให้คำรับรองนางสาวเท และเป็นผู้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางสาวเท การกระทำดังกล่าวนี้จะเป็นการกระทำโดยชอบหรือไม่ต้องพิจารณาจากพฤติกรรมของจำเลยและศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวขาวนั้นความจริงคือนางสาวเทเป็นบุคคลต่างด้าว แล้วจำเลยมาให้คำรับรองว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยจำเลยอ้างว่าที่ให้คำรับรองดังกล่าวเพราะดูจากหลักฐานการแจ้งย้าย ทะเบียนบ้านและใบสูติบัตร และเพราะนางสาวเทมีลักษณะท่าทางเหมือนคนไทยสามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้นั้นดูจะไม่น่าเชื่อเพราะขัดกับพฤติกรรมและวุฒิภาวะของจำเลย หากจำเลยเป็นชาวบ้านธรรมดาก็น่าจะอ้างเช่นนี้ได้อยู่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยให้คำรับรองนางสาวเท ไปทั้ง ๆ ที่ทราบว่านางสาวเทเป็นบุคคลต่างด้าว แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำในตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ จำเลยมีตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอแต่มีอาวุโสต่ำกว่าปลัดอำเภออื่น เช่น นายรัฐพงษ์และนายสุริยาเป็นต้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่รักษาการแทนนายอำเภอเมื่อยังมีปลัดอำเภออาวุโสปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั้งตามคำสั่งนายอำเภอไทรโยคเอกสารหมาย จ.4 ได้มอบหมายงานทะเบียนทั่วไปให้นายรัฐพงศ์ งานบัตรประจำตัวประชาชนให้นายสุริยา ส่วนจำเลยได้รับมอบหมายงานส่งเสริมการปกครอง ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ ไม่ว่าจะโดยการรักษาการแทนนายอำเภอหรือโดยได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ แต่หน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเพียงการมอบหมายภายในเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. 2457 มาตรา 67 บัญญัติว่า “นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีซึ่งรวมเรียกว่ากรมการอำเภอ แม้มีตำแหน่งต่างกันย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบรวมกันในการที่จะให้การปกครองอำเภอนั้นเรียบร้อย”ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ต้องถือว่าจำเลยซึ่งมีตำแหน่งปลัดอำเภอมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกับนายอำเภอและปลัดอำเภอคนอื่นอยู่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า การสอบสวนจำเลยกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยนำสืบว่าตามข้อบังคับที่ 1/2509 ของกระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบไว้ในการสอบสวนข้าราชการฝ่ายปกครองว่า ต้องมีพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจด้วย แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจสอบสวนโดยไม่มีพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมาร่วมสอบสวนด้วย จึงเป็นการสอบสวนไม่ชอบ เห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ต้องหาที่มีลักษณะพิเศษตามข้อ 13 แห่งข้อบังคับดังกล่าว เช่น กรณีที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพโดยถูกพนักงานสอบสวนขู่เข็ญ เป็นต้น หากการสอบสวนนั้นไม่มีพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองร่วมด้วย การสอบสวนนั้นย่อมไม่ชอบ รับฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ แต่คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด สิทธิของจำเลยไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใดไม่ว่าในชั้นสอบสวนหรือชั้นพิจารณาของศาล ทั้งจำเลยก็มิได้กล่าวหาว่าการสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การสอบสวนจึงชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18
พิพากษายืน

Share