คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อาศัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับไปกระทำกิจธุระอื่นโดยมิได้มีเจตนาจะกระทำผิดฐานชิงทรัพย์มาก่อน เหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยที่ 1 ลงไปกระทำการขณะที่รถยนต์จอดเพราะการจราจรติดขัด ประกอบกับจำเลยที่ 3 ก็มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยแต่อย่างใด การชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์โดยลักเอาทรัพย์รวมเป็นเงิน 930 บาท ของนายจำเรียง ผู้เสียหายไปโดยทุจริต การลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและใช้รถยนต์เป็นยานพาหะเพื่อพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับคนละ 1,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 76 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีตามมาตรา 56 ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ขณะนายจำเรียง ผู้เสียหายยืนรอเพื่อนหญิงอยู่บนทางเท้า ได้มีรถยนต์ตู้สีขาวที่จำเลยที่ 3 ขับขี่มาจอดห่างจากผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร และมีจำเลยที่ 1ที่ 2 ลงจากรถตรงเข้าไปหาผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 ใช้มือทั้งสองจับอกเสื้อผู้เสียหายพูดว่า ‘ขอเถอะ’ พร้อมกับปลดเอาเข็มรูปกางเขน เข็มวงกลมสัญลักษณ์ของโรงเรียน เพลทสำหรับเขียนแบบกับกำไลอะลูมิเนียมผสมทองเหลืองจากผู้เสียหายไป ส่วนจำเลยที่2 ได้ยืนอยู่ใกล้ๆ จากนั้นจำเลยทั้งสองพากันวิ่งขึ้นรถคันเดิมที่ขับแล่นเรื่อยๆ ไปข้างหน้า และวินิจฉัยว่า คดีฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี หรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อคดีไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะใช้รถยนต์ไปกระทำผิดแต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่1 อาศัยรถยนต์ไปกระทำกิจธุระอื่นเท่านั้น เหตุชิงทรัพย์คดีนี้ก็เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยที่ 1 ลงจากรถยนต์ไปกระทำการชิงทรัพย์ขณะที่รถยนต์จอดเพราะการจราจรติดขัด ซึ่งจำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาที่จะกระทำการดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับจำเลยที่ 3 บุตรของเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นั้นก็มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการชิงทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ
พิพากษายืน.

Share