คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12598/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแทนตามความจำเป็นไปตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวในวรรคสองด้วยแล้ว ดังนี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจดำเนินการออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวในวรรคสาม ซึ่งเมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยเพื่อไปหาเงินมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาโดยผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันให้ไว้ต่อศาลดังกล่าว แต่ต่อมาผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัดส่งตัวจำเลย ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือบังคับตามสัญญาประกันต่อผู้ประกันซึ่งเป็นคู่สัญญาได้
การที่จำเลยขออนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและผู้ประกันขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างระยะเวลาที่จะชำระค่าปรับ ก็เพื่อที่จะไม่ต้องถูกกักขังไปพลางก่อน จึงไม่ใช่กรณีที่เมื่อมีการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นอุทธรณ์แล้วจะเป็นเหตุให้ผู้ประกันไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันในอันที่จะต้องส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และในที่สุดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38, 79, 54, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 3 เดือน และปรับ 90,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 200,000 บาท รวมจำคุก 3 เดือน และปรับ 290,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 145,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหาย โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแจ้งให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาอ่านคำพิพากษาและดำเนินการอื่นตามกฎหมายต่อไป และศาลจังหวัดนครราชสีมาได้อ่านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้คู่ความฟังในวันที่ 20 มกราคม 2554 และในวันเดียวกันนั้นผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยเพื่อให้จำเลยไปหาเงินมาชำระค่าปรับ โดยผู้ประกันใช้ทรัพย์ของตนเป็นหลักประกัน และศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยชำระค่าปรับตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน (ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554) ผู้ประกันทำสัญญาประกันฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2554 มีข้อสำคัญว่า ผู้ประกันหรือจำเลยจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล มิฉะนั้นผู้ประกันยอมรับผิดชอบใช้เงินจำนวน 200,000 บาท แก่ศาลจนครบและนัดให้ผู้ประกันส่งตัวจำเลยวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.30 นาฬิกา แต่เมื่อถึงกำหนดนัดส่งตัวจำเลยดังกล่าว ผู้ประกันและจำเลยไม่มาศาล ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษา โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลจังหวัดนครราชสีมาอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 22 มีนาคม 2554 ครั้นวันที่ 29 มีนาคม 2554 ศาลจังหวัดนครราชสีมาออกหมายจับจำเลยมาบังคับตามคำพิพากษา และมีคำสั่งปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกัน โดยออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระเงินค่าปรับภายใน 30 วัน ซึ่งในวันที่ศาลมีคำสั่งนี้ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าปรับตามคำพิพากษา แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 ว่า กรณีไม่มีเหตุผัดชำระค่าปรับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดนครราชสีมาที่สั่งปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกันต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ประกันประการแรกว่า ศาลจังหวัดนครราชสีมามีอำนาจสั่งปรับผู้ประกันในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแทนตามความจำเป็นไปตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวในวรรคสองด้วยแล้ว ดังนี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจดำเนินการในการออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยได้ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวในวรรคสาม ซึ่งเมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยเพื่อไปหาเงินมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาโดยผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันให้ไว้ต่อศาลดังกล่าว แต่ต่อมาผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัดส่งตัวจำเลย ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือบังคับตามสัญญาประกันต่อผู้ประกันซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ อุทธรณ์ของผู้ประกันในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ประกันประการสุดท้ายว่า คำสั่งศาลจังหวัดนครราชสีมาที่ให้ปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันชอบหรือไม่ เห็นว่า ผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันให้ไว้ต่อศาลดังกล่าว โดยรับว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล หากปฏิบัติผิดสัญญายอมรับผิดชอบใช้เงินจำนวน 200,000 บาท และผู้ประกันลงชื่อรับทราบกำหนดนัดส่งตัวจำเลยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.30 นาฬิกา แล้วย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติในการส่งตัวจำเลยตามกำหนดนั้น ส่วนที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพื่อขอลดค่าปรับตามคำพิพากษานั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์แก่จำเลย จนในที่สุดจำเลยโดยทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์และศาลสั่งรับอุทธรณ์แล้วก็ตามก็เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะพิจารณาพิพากษาต่อไป แต่ในส่วนการบังคับชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 บัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยขออนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและผู้ประกันขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างระยะเวลาที่จะชำระค่าปรับก็เพื่อที่จะไม่ต้องถูกกักขังไปพลางก่อน จึงไม่ใช่กรณีที่เมื่อมีการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นอุทธรณ์แล้วจะเป็นเหตุให้ผู้ประกันไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันในอันที่จะต้องส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัด ดังนั้นการที่ผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประกันอันต้องใช้เงินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมาเห็นว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันและสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ประกันฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน

Share