คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1782/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมระบุเงื่อนไขของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกว่าต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสกุลของเจ้ามรดก มารดาโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดก

ย่อยาว

โจทก์ผู้รับมรดกมารดา ย่อมเป็นผู้อยู่ในสกุลของเจ้ามรดก.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ทำพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์สินส่วนหนึ่งเป็นสมบัติในนามของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ตลอดไป ไม่เป็นมรดกตกเป็นสิทธิแก่ผู้ใดเพื่อเก็บประโยชน์บำรุงสกุลเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์โดยระบุชื่อผู้มีส่วนได้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว และให้ผู้มีส่วนได้ประโยชน์ในทรัพย์สินปรึกษากันเลือกผู้ที่เห็นสมควรซึ่งอยู่ในสกุลเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เป็นผู้จัดการ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้หนังสือดังกล่าวเป็นพินัยกรรมแล้ว ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 กับหม่อมหลวงสารี ศิริวงศ์ เป็นผู้จัดการมรดกครั้นหม่อมหลวงสารีถึงแก่กรรม ทายาทผู้มีส่วนได้ประโยชน์ประชุมกันเลือกนายพรรณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกแทนหม่อมหลวงสารี ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ตามพินัยกรรมผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสกุลของเจ้ามรดกเท่านั้นแต่ผู้ร้องที่ 3 มิได้ใช้นามสกุล ‘กุญชร’ ของเจ้ามรดก จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และผู้คัดค้านว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลย ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ที่อยู่ในสกุลของเจ้ามรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม และมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมกำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการมรดกในส่วนที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาทคดีนี้ไว้ว่า จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์ในที่ดินมรดกของเจ้ามรดก แต่ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสกุลของเจ้ามรดก มารดาของโจทก์ที่ 3 ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นบุตรของเจ้ามรดกมีสิทธิได้ประโยชน์ในที่ดินมรดกรายนี้ มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้อยู่ในสกุลของเจ้ามรดก มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของเจ้ามรดกหรือไม่เห็นว่า เมื่อมารดาของโจทก์ที่ 3 ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นบุตรของเจ้ามรดก โจทก์ที่ 3 จึงเป็นผู้สืบมรดกในส่วนของมารดา เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ถือได้ว่าเป็นผู้อยู่ในตระกูลหรือเชื้อสายของเจ้ามรดกหรือเป็นผู้อยู่ในสกุลของเจ้ามรดก และข้อเท็จจริงก็ได้ความในทางพิจารณาคดีว่า ผู้มีส่วนได้ประโยชน์ในที่ดินมรดกของเจ้ามรดกส่วนใหญ่ตกลงเห็นสมควรให้โจทก์ที่ 3 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ด้วยโจทก์ที่ 3 จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของเจ้ามรดก’
พิพากษายืน.

Share