คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1769/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัดจำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วจึงเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนวัด ขณะที่วัดจำเลยที่ 1ยังไม่มีเจ้าอาวาส จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระลูกวัดเป็นผู้ติดต่อ ให้โจทก์มาช่วยสร้างโบสถ์ บอกบุญให้ประชาชนมาร่วมบริจาคเงินสร้างโบสถ์และคิดบัญชีกับโจทก์ เมื่อคิดบัญชีแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยระบุฐานะว่าเป็นตัวแทน คณะกรรมการจัดงานฝังลูกนิมิต วัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ระบุว่า เป็นกรรมการของวัดจำเลยที่ 1 พฤติการณ์เหล่านี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เจ้าคณะตำบลอาศัยอำนาจตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 6(พ.ศ. 2506) ข้อ 4 วรรคหนึ่ง แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทน เจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ เจ้าอาวาสตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หลังจากจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสอันเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงพฤติการณ์ตามวรรคแรกของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ทักท้วงหรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบัน แก่การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 หาต้องร่วมรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ โจทก์เข้าช่วยเหลือในการสร้างโบสถ์โดยมิได้หวังผลตอบแทนในทางการค้าจากจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ การที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปในการก่อสร้างโบสถ์จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7)ซึ่งมีอายุความ 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่มอบหมายให้โจทก์สร้างโบสถ์โดยให้โจทก์ทดรองจ่ายค่าวัสดุต่าง ๆ ไปก่อนแล้วไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ2 ปี และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่เป็นนิติบุคคลจึงไม่ต้องรับผิดด้วยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,934.20 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 20,379.20 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างอิงเหตุผล 2 ประการ คือ ประการที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จะต้องเป็นเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเท่านั้น จำเลยที่ 2เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1เมื่อปีพุทธศักราช 2520 หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องทุกฉบับทำเมื่อปีพุทธศักราช 2518 จึงไม่มีผลตามกฎหมายจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยายไม่ได้ประการที่ 2 เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายตามฟ้องส่วนหนึ่งเป็นของวัดปัญจมิตรชลิตารามซึ่งเป็นนิติบุคคล วัดดังกล่าวมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ สำหรับฎีกาข้อนี้ในประการที่ 1 นั้นวัดจำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2516 จึงเป็นนิติบุคคลจำพวกวัดวาอารามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72 และเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนวัดขณะเกิดเหตุกรณีที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ วัดจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเจ้าอาวาส จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระลูกวัดเป็นผู้ติดต่อให้โจทก์มาช่วยสร้างโบสถ์ให้ ในการคิดบัญชีหนี้สินในการก่อสร้างโบสถ์ที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้คิดบัญชีกับโจทก์และเป็นผู้บอกบุญให้ประชาชนมาร่วมบริจาคเงินสร้างโบสถ์เมื่อคิดบัญชีกันแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน เป็นเงิน 20,379.20 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนดังกล่าวจริง โดยระบุฐานะในหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นตัวแทนคณะกรรมการจัดงานฝังลูกนิมิตวัดโคกสำโรง (จำเลยที่ 1) ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำขึ้นก็ได้ระบุฐานะของจำเลยที่ 3 ว่าเป็นกรรมการของวัดจำเลยที่ 1พฤติการณ์เหล่านี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ต่อมาอีกประมาณ 2 ปี เจ้าคณะตำบลอาศัยอำนาจตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2506)ข้อ 4 วรรคหนึ่ง แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาสตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505และจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสกว่า 5 ปี จำเลยที่ 2ในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 รู้ถึงพฤติการณ์อันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ก็มิได้ทักท้วงหรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล สำหรับฎีกาข้อนี้ในประการที่ 2นั้น จำเลยที่ 1 มิได้ยกข้อเท็จจริงที่อ้างอิงในฎีกาขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7)นั้น ปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2518 และในปีเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ แม้จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่โจทก์เข้าช่วยเหลือในการสร้างโบสถ์ก็โดยมีเจตนาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนามิได้หวังผลตอบแทนจากจำเลยที่ 1 ในทางการค้า การกระทำของโจทก์จึงมิเข้าลักษณะเป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ การที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปในการก่อสร้างโบสถ์ให้จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ซึ่งมีอายุความสองปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถึงแปดปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยนายสายและพระครูปลัด(พระครูปลัดชนิต ชินง กุโร) ลงลายมือชื่อรับเงินไว้เป็นหลักฐานแม้โจทก์จะมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลทั้งสองมารับเงินจากจำเลยที่ 1 แต่เรื่องนี้ต้องคำนึงถึงประเพณีท้องถิ่นด้วยบุคคลทั้งสองอาจเป็นตัวแทนของโจทก์โดยปริยาย นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งนายสายลงลายมือชื่อ เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2518 นายสายรับเงินไปจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน43,978 บาท มีปัญหาว่านายสายรับเงินจำนวนดังกล่าวในฐานะตัวแทนของโจทก์หรือไม่ หรือโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้หรือไม่ ปรากฏว่าก่อนหน้านี้โจทก์เคยให้นายสายสร้างโบสถ์วัดอื่น เมื่อจำเลยที่ 2กับพวกมาติดต่อให้โจทก์สร้างโบสถ์ โจทก์ก็ยอมรับจัดการให้โดยตกลงกันว่าค่าวัสดุก่อสร้างถ้าจำเลยที่ 1 มีเงินไม่พอโจทก์จะออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนส่วนค่าแรงฝ่ายจำเลยเป็นผู้จ่าย โจทก์เพียงแต่แนะนำฝ่ายจำเลยว่าให้นายสายเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนค่าแรงเท่าไรนั้นนายสายกับฝ่ายจำเลยตกลงกันเอง และฝ่ายจำเลยก็ได้จ่ายเงินค่าแรงให้นายสายโดยตรงมิได้ผ่านโจทก์ โจทก์ไม่เคยแจ้งฝ่ายจำเลยว่าให้มอบเงินค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนแก่นายสาย ไม่ว่าจะโดยลายลักษณ์อักษรหรือโดยวาจา จึงถือไม่ได้ว่านายสายเป็นตัวแทนของโจทก์ หรือโจทก์เชิดนายสายออกแสดงเป็นตัวแทน หรือโจทก์รู้แล้วยอมให้นายสายเชิดตัวเองเป็นตัวแทนดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้นายสายจึงนำมาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้รับค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน จำเลยที่ 1 จึงยังไม่พ้นความรับผิดสำหรับหนี้ส่วนนี้ ส่วนค่ากระเบื้องหลังคาโบสถ์ที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อน 10,605 บาทนั้น คดีฟังได้ตามคำจำเลยที่ 2 และใบรับเงินเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ว่าพระครูปลัดชนิตรับเงินค่ากระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ไปจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2518เป็นเงิน 8,605 บาท และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2518 อีก 2,000 บาทพระครูปลัดชนิตเป็นรองเจ้าอาวาสวัดปัญจมิตรชลิตารามซึ่งโจทก์เป็นเจ้าอาวาส เมื่อฝ่ายจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่ากระเบื้องหลังคาโบสถ์ 10,605 บาท และค่าธูปเทียนและทองคำเปลว 19,950 บาท ในวันที่ 7 มิถุนายน 2518โจทก์และพระครูปลัดชนิตก็มาด้วยกัน และพระครูปลัดชนิตได้ลงลายมือชื่อในฐานะพยานในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.3 ด้วยเมื่อพระครูปลัดชนิตมารับเงินค่ากระเบื้องหลังคาโบสถ์ 8,605 บาทที่วัดจำเลยที่ 1 ในวันที่ 13 กันยายน 2518 ก็ได้ระบุในใบรับเงินว่าพระครูปลัดชนิตเป็นตัวแทนของโจทก์ ส่วนค่ากระเบื้องหลังคาโบสถ์ที่เหลืออีก 2,000 บาท ฝ่ายจำเลยนำไปชำระที่วัดปัญจมิตรชลิตารามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2518 พระครูปลัดชนิตรับเงินไว้ ก็ได้ระบุฐานะพระครูปลัดชนิตในใบรับเงินว่าเป็นรองเจ้าอาวาสวัดปัญจมิตรชลิตารามรับแทนเจ้าอาวาส (โจทก์) หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2518 มีใจความตอนหนึ่งว่าโจทก์ต้องการให้ฝ่ายจำเลยชำระเงินค่ากระเบื้องหลังคาโบสถ์ภายใน 15 วัน แต่ทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจนถึงวันฟ้อง (วันที่22 กุมภาพันธ์ 2526) โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายนี้โจทก์มีแต่ตัวโจทก์มาเบิกความลอย ๆ ว่า โจทก์ไม่เคยได้รับชำระหนี้รายนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลฎีกาเชื่อว่า โจทก์มอบให้พระครูปลัดชนิตรับเงินค่ากระเบื้องหลังคาโบสถ์ที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้โจทก์10,605 บาท ครบถ้วนแล้วโดยผ่านพระครูปลัดชนิต จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้หนี้รายนี้แก่โจทก์อีก
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ในการทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับสภาพต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.3 ที่โจทก์ใช้เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักในคำฟ้อง จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4กระทำไปโดยเชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1รู้แล้วได้ให้สัตยาบัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนของตนแม้หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3กับพวกทำขึ้นนั้น จะมีข้อความว่า “ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 2) และคณะกรรมการวัดโคกสำโรง ยินยอมให้พระครูพิพัฒน์สิทธิการ (โจทก์)ฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย” ก็มิได้หมายความว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3ยอมรับผิดเป็นส่วนตัวเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปโดยเชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และตอนต้นของหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าหนี้ที่ยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นค่าธูป เทียน ทอง เข็มและด้ายที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนจำเลยที่ 3 ก็ได้ระบุฐานะของตนในหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้ว่าเป็นกรรมการวัดจำเลยที่ 1 สิ่งของดังกล่าวก็ได้ใช้ในการผูกพัทธสีมาโบสถ์วัดจำเลยที่ 1 มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ 2และที่ 3 ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดหนี้ตามฟ้องเป็นส่วนตัว ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นนี้มาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 30,329.20 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share