คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 2 กรรม รวมจำคุกจำเลยแต่ละคนไม่เกินคนละ 5 ปี ให้จำเลยร่วมกันใช้เงินที่ฉ้อโกงไปแก่ผู้เสียหายศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำนวนเงินที่ให้จำเลยใช้คืน ดังนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาว่าไม่มีพยานโจทก์ยืนยันถึงการกระทำผิดของจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อหนึ่งของจำเลยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์ในข้อดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7,27 มิใช่มาตรา 7,28ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 7,28 ทั้งมาตรา27 และ 28 ต่างก็เป็นบทลงโทษของมาตรา 7 ซึ่งกำหนดโทษไว้เท่ากันจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตและฉ้อโกงประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511มาตรา 7, 28 และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ฉ้อโกงไปแก่ผู้เสียหายศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำนวนเงินที่ให้ใช้คืนจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 3ซึ่งฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกได้ร่วมกันจัดหางานโดยเรียกและรับค่าบริการจากผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้สมัครไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียโดยการหลอกลวงดังกล่าวจำเลยทั้งสี่กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินเงินค่าบริการจำนวน 1,985,400 บาทจากผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 2 กรรม รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 คนละ 5 ปี และปรับคนละ 1,000 บาท ลงโทษปรับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 11,000 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน1,997,400 บาท แก่ผู้เสียหาย และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสี่ใช้เงินแก่ผู้เสียหายเพียง 1,985,400 บาท อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายโดยฎีกาข้อ 2 อ้างว่า ในวันสืบพยานจำเลยไม่มีทนายมาศาลจึงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่ง และศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวได้กล่าวอ้างเข้ามาลอย ๆไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้แต่อย่างใดจึงไม่รับวินิจฉัยให้ และที่ฎีกาว่าข้อวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองเหมาเอาตามที่ผู้เสียหายยืนยันว่า จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานของบริษัท จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดก็ดี ฎีกาข้อ 3 ที่ว่าไม่มีพยานโจทก์ยืนยันถึงการกระทำผิดของจำเลยที่ 3 ก็ดี ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานทั้งสิ้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนฎีกาในข้อ 4 ที่ว่าการกระทำของจำเลยอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ไม่ใช่มาตรา 7, 28 ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนั้น แม้ปัญหาข้อนี้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะโจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 7, 28 และบทลงโทษทั้งมาตรา 27 และ 28ต่างก็เป็นบทลงโทษของมาตรา 7 ซึ่งได้กำหนดโทษไว้เท่ากัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3

Share