คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งโจทก์ให้การปฏิเสธ เมื่อคดีถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดต่อผู้เสียหายและโจทก์วางเงินชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์วางเงินดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย แต่ก็เป็นความรับผิดในฐานะนิติบุคคลเพื่อเยียวยาแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วจึงให้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิไล่เบี้ยได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่มีผลใช้บังคับก่อนเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องบังคับตาม มาตรา 8 วรรคสี่ ที่มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสามผู้ทำละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสามแต่ละคนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,519,524 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 2,344,192.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,344,192.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 15 กรกฎาคม 2542)ต้องไม่เกิน 175,331.52 บาท ตามที่ขอ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 มีผู้แอบอ้างว่าเป็นนายแดง นำโฉนดที่ดินเลขที่ 6615 ตำบลเมืองใหม่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโฉนดปลอมมาจดทะเบียนทำนิติกรรมขายที่ดินให้แก่นายนำชัย กับพวกรวม 8 คน ในราคา1,500,000 บาท ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า หน่วยงานของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสามรับราชการอยู่ แต่ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า ทราบว่าเป็นการรับจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามโฉนดปลอม จึงรายงานให้จังหวัดฉะเชิงเทราทราบ จังหวัดฉะเชิงเทรามีคำสั่งที่ 1714/2536 เพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินดังกล่าว นายนำชัยกับพวกจึงฟ้องจำเลยที่ 1 กับโจทก์ในคดีนี้ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนเงินค่าซื้อที่ดินที่ชำระไปพร้อมดอกเบี้ย ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 8181/2540 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าฤชาธรรมเนียมแก่นายนำชัยกับพวก ตามสำเนาคำพิพากษา โจทก์นำเงินจำนวนตามหนี้ในคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยวางต่อศาลชั้นต้นแล้ว และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจเอกสารต่าง ๆ ซึ่งมีข้อพิรุธอยู่แล้วให้ละเอียดถี่ถ้วนแต่เชื่อว่าผู้แอบอ้างนั้นคือนายแดงและโฉนดที่ดินซึ่งนำมาจดทะเบียนขายให้แก่นายนำชัยกับพวกเป็นโฉนดที่แท้จริง จึงรับจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้นายนำชัยกับพวก เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงรายงานต่ออธิบดีกรมโจทก์ให้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวโดยคู่ความไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 5 ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียน มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน 4 ฝ่ายอำนวยการ เป็นผู้รับคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อขายที่ดินไว้จากผู้แอบอ้างว่าเป็นนายแดง โดยตรวจสอบพบว่าอายุของนายแดงตามที่ปรากฏในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านแตกต่างจากอายุที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายที่ดิน ในครั้งที่นายแดงซื้อที่ดินแปลงนี้มาอยู่ถึง 22 ปี จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยผู้แอบอ้างว่าเป็นนายแดงนั้นอ้างว่าเจ้าพนักงานพิมพ์ผิด จำเลยที่ 1 สั่งให้ตรวจสอบอายุของนายแดงจากเอกสารอื่นในสารบบแต่หาไม่พบจึงไม่อาจตรวจสอบได้ จำเลยที่ 1 ตรวจสอบจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้ซึ่งแอบอ้างว่าเป็นนายแดงนำมายื่นตามด้วยแล้วเชื่อว่ามีการพิมพ์อายุนายแดงผิดพลาดจริง จึงสั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขเรื่องอายุของนายแดง จำเลยที่ 2 จึงจัดทำคำขอแก้อายุตามสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยลงลายมือชื่อในคำขอแก้อายุในฐานะพยาน จำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน 3 ขณะเกิดเหตุมีหน้าที่ด้านการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ทด. 1) ในฐานะผู้สอบสวน และลงลายมือชื่อในคำขอแก้อายุ (ทด. 9) ในฐานะพยานด้วย จากนั้นจึงมีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้นายนำชัยกับพวกไป ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ถูกต้อง แต่กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจตราให้แน่ชัดเสียก่อน เป็นเหตุให้ผู้แอบอ้างว่าเป็นนายแดงใช้โฉนดปลอมโอนขายที่ดินให้นายนำชัยกับพวกจนต้องมีการเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้ง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำหรือละเว้นกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น แม้อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีจำเลยที่ 2 ร่ำรวยผิดปกติ และมีคำสั่งของสำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า ห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ตามสำเนาคำสั่งก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 เข้ามาช่วยตรวจสอบเอกสารของผู้ที่อ้างว่าเป็นนายแดงในการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินกรณีซื้อขาย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้ช่วยปฏิบัติงานรับคำขอเพื่อสอบสวนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชานั้น แม้เป็นการสั่งการด้วยวาจา ไม่ใช่คำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ถือว่าเป็นคำสั่งโดยชอบตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 2 เสมือนว่ามีอำนาจหน้าที่ดังเช่นพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า ผู้มีหน้าที่ดังกล่าวนั้นแล้ว เมื่อตรวจสอบพบว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 6615 ฉบับเจ้าของที่ดินเป็นเอกสารปลอมเพราะเห็นได้ชัดว่าใช้แบบพิมพ์ไม่ตรงกับฉบับของสำนักงานที่ดิน หรือพบว่าอายุของนายแดงที่ระบุไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของนายแดงแตกต่างกับที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งที่นายแดงเป็นผู้ซื้อที่ดินในปี 2510 โดยวิสัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งเคยทำหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินมาก่อน ย่อมไม่ควรรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการต่อไปหรือกระทำเพียงปรึกษาจำเลยที่ 1 เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเกี่ยวกับอายุที่แท้จริงของนายแดงเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 3 ก็เช่นเดียวกันจากข้อพิรุธอย่างชัดแจ้งหลายจุดของโฉนดปลอมจำเลยที่ 3 ควรจะตรวจพบได้ด้วยตนเอง จึงไม่ควรลงลายมือชื่อเป็นผู้สอบสวนและเป็นพยานในคำขอแก้ไขอายุของบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นนายแดง การที่จำเลยที่ 3 ยอมดำเนินการให้ แสดงว่าจำเลยที่ 3 มิได้ตรวจสอบโฉนดที่ดินที่นำมาจดทะเบียนอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ผิดวิสัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินเป็นอย่างยิ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องพิจารณาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 น้อยกว่าความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด และควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ให้น้อยลงหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถตรวจพบข้อพิรุธของโฉนดปลอมได้โดยง่ายเพราะเป็นข้อพิรุธที่เห็นประจักษ์ ซึ่งโดยวิสัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วควรตรวจสอบโฉนดที่ดินฉบับซึ่งนำมาจดทะเบียนโอนตามสัญญาซื้อขาย เปรียบเทียบกับฉบับของสำนักงานที่ดิน ซึ่งหากตรวจสอบลายมือชื่อผู้เขียนในโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวกับฉบับเจ้าของที่ดินจะเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เขียนต่างคนกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องอายุของนายแดงผู้ขายที่ดินซึ่งมีข้อสงสัย ก็ต้องตรวจสอบอย่างพิถีพิถันและใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้น แต่จำเลยที่ 2 หาได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารเช่นนั้นไม่ กลับเสนอคำขอจดทะเบียนและทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้มีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินได้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนต่างขั้นตอนกัน แต่ผลแห่งละเมิดก็เกิดจากมูลเหตุแห่งการกระทำเดียวกัน พฤติการณ์แห่งละเมิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำและความเป็นธรรมแห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ควรรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนเท่ากันกับจำเลยที่ 1 และการที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐวางเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8181/2540 จำนวน 2,344,192.40 บาท นั้น แม้คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย แต่ก็เป็นความรับผิดในฐานะนิติบุคคลเพื่อเยียวยาแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิไล่เบี้ยได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องบังคับตามมาตรา 8 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติมิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าเหตุละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์หรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมของโจทก์ จึงไม่มีเหตุให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกกึ่งหนึ่งก่อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา และเมื่อจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้จำนวนเดียวกันแยกต่างหากจากกัน จึงต้องพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินคนละ 1,022,096.25 บาท และจำเลยที่ 3 ชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ

Share