คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4631/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้ฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความดังกล่าวทำขึ้นในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)
ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องอาจไม่มีความชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวน
แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และ ป.อ. มาตรา 96 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 69, 74, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 และให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระค่าปรับให้แก่โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง และให้จำเลยทั้งเจ็ดระงับการเผยแพร่ทำซ้ำ ดัดแปลง งานลิขสิทธิ์ของโจทก์ทางโปรแกรมหรือแอปพลิเคชัน “บิสนิวส์ โปรเฟสชันแนล” (BISNEWS Professional) ของจำเลยทั้งเจ็ด
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวเกี่ยวกับฟ้องของโจทก์ว่าเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่างานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด อันเป็นฟ้องที่บรรยายการกระทำความทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดไม่ครบถ้วน เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้พิจารณาคำร้องขอชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยทั้งเจ็ด แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมผู้สร้างสรรค์ย่อมได้มาทันทีเมื่อได้สร้างสรรค์งานนั้นเสร็จหากว่าผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในประเทศไทยหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) แม้จะยังมิได้มีการโฆษณางานนั้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) ก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้สร้างสรรค์จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นต่อเมื่อได้โฆษณางานครั้งแรกตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมา ส่วนการโฆษณางานครั้งแรกจะมีผลเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานไม่ได้เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้อยู่ในประเทศไทย หรือไม่เป็นผู้มีสัญชาติหรือไม่อยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น แต่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำการโฆษณางานนั้นครั้งแรกในประเทศไทยหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ผู้สร้างสรรค์จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เพราะการโฆษณางานนั้นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) เมื่อพิจารณาจากฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องได้ความว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สรุปใจความได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมบทความ ซึ่งประกอบไปด้วยข่าว ข้อมูล บทสัมภาษณ์ และบทวิเคราะห์ ที่พนักงานลูกจ้างบริษัทโจทก์เป็นผู้จัดทำสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้การจ้างงานโดยมีข้อตกลงให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และโจทก์ได้นำบทความที่เสร็จสมบูรณ์แล้วไปเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ “แอสเพน” (Aspen) ในการประมวลผลรวม เชื่อมต่อและติดต่อระหว่างโจทก์กับลูกค้าของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกบอกรับบริการของโจทก์ ลูกค้าโจทก์สามารถอ่านงานวรรณกรรมบทความของโจทก์ได้ทางระบบคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต และโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงงานวรรณกรรมบทความอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 5 บทความ และข้อมูลหรือบทความที่จำเลยทั้งเจ็ดนำไปเผยแพร่ทางระบบคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรม “BISNEWS Professional” ดังนี้ หากงานบทความที่บริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลกล่าวอ้างนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ก็ย่อมมีอายุแห่งการคุ้มครองห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ตามมาตรา 19 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาใจความเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้คำฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความที่โจทก์อ้างว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้นได้ทำขึ้นในปี 2558 ทั้งสิ้น ดังนั้นในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้คำฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใดเพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่บรรยายว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่บรรยายว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไร แม้จะระบุว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 แต่ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์จะกล่าวหาจำเลยทั้งเจ็ดว่ากระทำความผิด 5 กรรม หรือ 80 กรรม ตามที่ทนายโจทก์แถลงต่อศาล ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายอย่างชัดแล้วระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 จำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอ ที่จะให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องของโจทก์อาจไม่มีความชัดเจนว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวนภายหลังที่ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดเสร็จสิ้นแล้วโดยศาลต้องไม่พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่บรรยายว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปว่า คดีตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 และโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 18 มีนาคม 2558 โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีจึงขาดอายุความ 3 เดือน ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จะเป็นอันขาดอายุความ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 และโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เองในวันที่ 18 มีนาคม 2558 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยทั้งเจ็ดไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 เป็นการไม่ชอบนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อไป และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share