คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นอย่างร้ายแรงอันจะทำให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองถูกจ้างวานมาฆ่าผู้เสียหายดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ใต้ถุนบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้วางแผนมาก่อนหรือมาซุ่มรอเพื่อจะดักฆ่าผู้เสียหายนั้น จะถือว่าเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนยังไม่ถนัด เพราะจำเลยทั้งสองอาจคิดฆ่าผู้เสียหายในขณะเดินผ่านที่เกิดเหตุก็เป็นได้ คดีไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามกฎหมาย คงได้ความเพียงว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนเท่านั้น เมื่อไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางจะฟังว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหาได้ไม่แต่เมื่อจำเลยที่ 1เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วพาอาวุธปืนนั้นไป จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่ามีส่วนร่วมในการพาอาวุธปืน จึงไม่มีความผิดในฐานนี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 371, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกคนละ 1 ปี เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ไม่จำต้องนำโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาเรียงกระทงลงโทษอีก คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ให้จำคุกคนละ 12 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยก โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เคยพูดกับ นายทำ ดัดสุขเจริญ ว่าจะเก็บผู้เสียหายนั้น คงมีแต่คำเบิกความของนายทำกล่าวอ้างขึ้นมาเท่านั้นทั้งการที่จะฆ่าคนเป็นเรื่องที่ร้ายแรงไม่ใช่เรื่องที่จะเที่ยวไปบอกผู้อื่นให้รับทราบ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ เมื่อคดีได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นอย่างร้ายแรงอันจะทำให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองถูกจ้างวานมาฆ่าผู้เสียหายทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้วางแผนมาก่อน หรือมาซุ่มดักรอเพื่อจะฆ่าผู้เสียหาย ลำพังแต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ขณะที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ที่ใต้ถุนบ้านของตนเองและจำเลยทั้งสองอยู่ที่บริเวณสวนผัก จะถือว่าเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนยังไม่ถนัดนัก เพราะจำเลยทั้งสองอาจคิดฆ่าผู้เสียหายขึ้นในขณะที่เดินผ่านที่เกิดเหตุดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมา ยังไม่พอฟังว่าเป็นการพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ที่โจทก์ฎีกาว่า การสอบสวนฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนไปยิงผู้เสียหายจึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ทางพิจารณาไม่ได้ความดังฎีกาของโจทก์ คดีคงฟังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนเท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1ใช้ยิงผู้เสียหายมาเป็นของกลางจะฟังว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหาได้ไม่แต่โดยเหตุที่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนแต่เป็นผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วพาอาวุธปืนนั้นไป จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า มีส่วนร่วมในการพาอาวุธปืน จึงไม่มีความผิดในฐานนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ที่แก้ไขแล้วซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี อีกกระทงหนึ่ง เมื่อรวมกับโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว จึงรวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1ทั้งสิ้น 13 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share