คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3500/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งอาวุธปืนซึ่งเป็นของต้องจำกัดตามพระราชบัญญัติศุลกากร เข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตอันเป็นหนังสือราชการปลอมแม้จำเลยจะได้ชำระค่าภาษีศุลกากรครบถ้วนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าใจผิดไปว่าอาวุธปืนนั้นได้รับอนุญาตให้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยก็เป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นครบองค์ประกอบความผิดฐานนำของต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 27 แล้ว การที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าโดยระบุชนิดของอาวุธปืน จำนวน ขนาด ประเทศที่ผลิตหรือสั่งซื้อผิดไปจากใบอนุญาตที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นการสำแดงความเท็จหรือไม่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99 แล้วและเป็นความผิดโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าอาวุธปืน (แบบ ป.2) และใช้เอกสารปลอมดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เพื่อให้ติดต่อสั่งอาวุธปืนจากต่างประเทศซึ่งเป็นของต้องจำกัดมิให้นำเข้า เมื่อบริษัทในต่างประเทศส่งอาวุธปืนมาให้ตามที่จำเลยสั่งแล้ว จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรพร้อมกับแบบ ป.2 ปลอม ซึ่งเป็นความเท็จขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 83พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 24, 72, 73พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99 ริบของกลางจ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้แจ้งความนำจับกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99ให้เรียงกระทงไปตามสำนวนแต่ละสำนวนไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวมเป็น 4 กระทงให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 15,000 บาทปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 10,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 60,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 40,000 บาทริบของกลาง และให้จ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ กับจ่ายเงินให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายข้อหาอื่นให้ยกทุกข้อหาโจทก์และจำเลยทั้งสองทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนความผิดฐานนำเข้าซึ่งอาวุธปืนและสำแดงเท็จนั้นโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่า ใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยทั้งสองนำไปขออนุญาตต่อกรมศุลกากรเป็นเอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนำเข้าซึ่งอาวุธปืนและสำแดงเท็จ ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 99 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99ของกลางคืนเจ้าของ และไม่จ่ายสินบนและเงินรางวัล นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่าใบอนุญาตให้สั่งซื้ออาวุธปืนตามแบบ ป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยใช้ในการดำเนินการสั่งซื้ออาวุธปืนจากต่างประเทศ รวม 52 ฉบับนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งตรงกันว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้สั่งซื้ออาวุธปืนตามใบอนุญาตแบบ ป.2 แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องนำใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ไปแสดงต่อกองพิธีการ กรมศุลกากรเสียก่อนหลังจากนั้นจึงจะนำไปแสดงต่อธนาคารเพื่อเปิดหนังสือให้สินเชื่อสั่งซื้ออาวุธปืนจากต่างประเทศได้ และได้ความจากนายจำลอง เสตถาภิรมย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน กองป้องกันและปราบปราม กรมศุลกากร พยานโจทก์ว่า ใบขนสินค้าขาเข้าตามเอกสารหมาย จ.48 มีการปลอมใบอนุญาตแบบ ป.2 เลขที่ 3020/2518,3021/2518, 3025/2518, 3028 ถึง 3035/2518 ใบขนสินค้าขาเข้าตามเอกสารหมาย จ.111 มีการปลอมใบอนุญาตแบบ ป.2 เลขที่11027/2518, 11028/2518, 11030 ถึง 11042/2518 ใบขนสินค้าขาเข้าตามเอกสารหมาย จ.187 มีการปลอมใบอนุญาตแบบ ป.2 เลขที่ 10821ถึง 10823/2518, 10827 ถึง 10829/2518, 10832 ถึง 10835/2519 โดยเลขที่ของใบอนุญาตแบบ ป.2 ในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวเป็นเลขที่เดียวกันกับใบอนุญาตแบบ ป.2 ซึ่งมีลายมือชื่อนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานคร แต่รายการที่ปรากฏในใบอนุญาตนั้นแตกต่างกันทั้งจำนวน ขนาด ชนิด ชื่อผู้สั่งซื้อ และประเทศที่ส่งอาวุธปืนนั้นมาทั้งเป็นใบอนุญาตที่ใช้แล้วด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้โจทก์มีพลตำรวจตรีสนั่น ตู้จินดา นายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานครขณะเกิดเหตุ พยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนที่พยานจะลงชื่อในใบอนุญาตแบบ ป.2 ทั้ง 3 ท่อน ในฐานะนายทะเบียน พยานจะตรวจดูเอกสารทุกท่อนก่อนว่ามีข้อความหรือรายการทุกช่องครบถ้วนหรือไม่เมื่อถูกต้องตรงกันแล้วพยานจึงจะลงลายมือชื่อ นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทวิรัตน์ เจิมสวัสดิ์ หัวหน้าแผนกอาวุธปืนกองทะเบียน กรมตำรวจ ขณะเกิดเหตุเป็นพยานเบิกความว่าเลขที่ในใบอนุญาตแบบ ป.2 แต่ละปีจะต้องเรียงลำดับกันไปจนหมดปีเมื่อขึ้นปีหรือ พ.ศ.ใหม่ ก็ต้องเรียงเลขใหม่ จะออกหมายเลขซ้ำหรือซ้อนกันไม่ได้ เพราะมีบัญชีคุมอยู่ และพลตำรวจตรีอำนวย อุดมเดชพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้เบิกความว่า ได้ขอหลักฐานจากกองทะเบียน กรมตำรวจ คือ ใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 1ป.2 ท่อน 3 ตามเลขที่ในใบขนสินค้าขาเข้า กองทะเบียนกรมตำรวจส่งแบบ ป.2 ท่อน 1 มาเป็นภาพถ่าย ส่วนแบบ ป.2ท่อน 3 ส่งต้นฉบับมาให้บางส่วน นอกนั้นไม่ได้ส่งมาเพราะหาไม่พบและแบบ ป.2 ท่อน 2 ที่ได้มาจากกรมศุลกากรนั้นเป็นต้นฉบับ เมื่อนำใบขนมาเปรียบเทียบกับใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 1 ท่อน 2 และท่อน 3 แล้วพบว่ารายการในใบอนุญาตแบบ ป.2 แต่ละท่อนไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่เช่นรายการในใบขนสินค้าขาเข้าเป็นอาวุธปืน แต่ใบอนุญาตแบบ ป.2เป็นกระสุนปืน เมื่อขอใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ซึ่งเป็นต้นฉบับที่จำเลยทั้งสองรับรองสำเนาถูกต้องมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบก็พบว่าตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.251 ระบุใบอนุญาตไว้ 5 ฉบับ แต่ตามเอกสารที่ทางธนาคารส่งมาหมาย จ.192 ระบุใบอนุญาตไว้จำนวน 10 ฉบับ ตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมายจ.187 ระบุใบอนุญาตไว้ 10 ฉบับ แต่ตามเอกสารที่ธนาคารส่งมาหมายจ.115 ระบุใบอนุญาตไว้ 16 ฉบับ ตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.48 ระบุใบอนุญาตไว้ 12 ฉบับ แต่ตามเอกสารที่ธนาคารส่งมาหมาย จ.1 ระบุใบอนุญาตไว้ 11 ฉบับ น้อยไป 1 ฉบับ และตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.111 ระบุใบอนุญาตไว้ 15 ฉบับ ตามเอกสารที่ธนาคารส่งมาหมาย จ.58 ระบุใบอนุญาตไว้ 15 ฉบับตรงกัน สำหรับสำเนาใบอนุญาต ป.2 ท่อน 3 ทั้งหมดที่ขอมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.60, จ.63, จ.67, จ.71, จ.75, จ.79, จ.82, จ.86,จ.89, จ.92, จ.95, จ.98, จ.101, จ.104 และ จ.107 ปรากฏว่าเป็นสำเนาซึ่งจำเลยทั้งสองลงชื่อรับรองแล้วนำไปใช้อ้างที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่สำเนาใบอนุญาตให้สั่งซื้ออาวุธปืนตามแบบ ป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการสั่งซื้ออาวุธปืนจากต่างประเทศ มีข้อความแตกต่างกับใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 1 และท่อน 2 ที่แท้จริง ในรายการชนิดของอาวุธปืนจำนวน ขนาด ประเทศที่ผลิตหรือสั่งซื้อ ทั้งที่ใบอนุญาตดังกล่าวนี้มีหมายเลขเดียวกัน แต่สำเนาใบอนุญาต ป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยทั้งสองรับรองส่วนใหญ่จะมีจำนวนที่ได้รับอนุญาตมากกว่าจำนวนที่ได้รับอนุญาตจริง รวมทั้งรายการในใบอนุญาตก็ไม่ตรงกับที่อ้างไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าต้นฉบับเอกสารใบอนุญาตแบบป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยทั้งสองรับรองสำเนาถูกต้อง โดยมีข้อความและรายการไม่ตรงกับใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 1 และท่อน 2 นั้น เป็นเอกสารปลอม ถึงแม้โจทก์จะมิได้นำใบอนุญาต ป.2 ท่อน 3 ซึ่งเป็นต้นฉบับที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับรองสำเนาถูกต้องมาแสดงต่อศาล แต่โจทก์ก็มีต้นฉบับใบอนุญาต ป.2 ท่อน 1 และท่อน 2มาเปรียบเทียบกับสำเนาใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยทั้งสองรับรองความถูกต้อง โดยโจทก์ก็มีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะต้องตรวจดูใบอนุญาต ป.2 ท่อน 3 ว่ามีข้อความและรอยประจำต่อตรงกับใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 2 ที่กรมตำรวจส่งมาให้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันก็จะไม่ประทับตรา แต่ถ้าตรงกันก็จะประทับตราที่ท่อน 2 และท่อน 3พร้อมทั้งออกเลข ก.ศ.ก. และลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย แล้วเจ้าหน้าที่จะนำเสนอผู้บังคับบัญชาให้ลงชื่อ หลังจากนั้นจะแยกแบบป.2 ท่อน 2 ไปเก็บ ส่วนแบบ ป.2 ท่อน 3 คืนให้แก่จำเลยทั้งสองแสดงว่าสำเนาใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ที่จำเลยทั้งสองรับรองความถูกต้องมีข้อความตรงกับใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ที่กองทะเบียนกรมตำรวจออกให้จึงเป็นเอกสารที่ไม่ปลอมนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของพลตำรวจตรีอำนวย พยานโจทก์ว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบตามระเบียบซึ่งต่อมากรมศุลกากรได้วางระเบียบขึ้นมาใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้นภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.335 และที่จำเลยทั้งสองอ้างอีกข้อหนึ่งว่า การที่เลขที่ในใบอนุญาตซ้ำซ้อนกันอาจเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่กองทะเบียนหรืออาจมีการทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่กองทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมกันนั้นเห็นว่าหากเหตุดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ก็ไม่น่าจะมีหมายเลขที่ซ้ำกันเป็นจำนวนมากเช่นนี้ส่วนที่อ้างว่าเกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นในสำนวนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวไม่ปลอมจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมเอกสารดังกล่าวหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในความผิดฐานนี้ โจทก์ไม่มีพยานคนใดที่รู้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำเอกสารปลอมตามฟ้อง ทั้งพลตำรวจตรีสง่า ดวงอัมพร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า จากพยานหลักฐานในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นคนทำเอกสาร ป.2 ท่อน 3 ปลอม และทำปลอมเมื่อใด ที่ไหน ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์ว่า ห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ขอให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่เปิดหนังสือให้สินเชื่อ (เลตเตอร์ออฟเครดิต) เพื่อสั่งสินค้าอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยนำใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3พร้อมกับสำเนา ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไปแสดงต่อธนาคารรวม 4 ครั้ง จำนวน 52 ฉบับ กับได้ความอีกด้วยว่าจำเลยทั้งสองลงชื่อเป็นผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้า ได้นำใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 ดังกล่าวไปยื่นแสดงรายการสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำด่านศุลกากร ท่าอากาศยานกรุงเทพ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 นั้นเป็นเอกสารปลอมการที่จำเลยทั้งสองนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสำนักงานใหญ่ กับนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเอกสารปลอมนั้น ทั้งได้ใช้เอกสารปลอมนี้หลายครั้งหลายหน และหลายฉบับด้วยกัน แสดงว่า จำเลยทั้งสองใช้ใบอนุญาตแบบ ป.2 ท่อน 3 โดยรู้อยู่ว่าเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองได้เสียค่าอากรนำเข้าโดยถูกต้องและรับอาวุธปืนไปจากกรมศุลกากรนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเสียค่าอากรนำเข้าครบถ้วนนั้นอาจเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าใจผิดว่า อาวุธปืนที่จำเลยนำเข้าได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วและอาจเป็นเพราะความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้องตามระเบียบวิธีปฏิบัติก็เป็นได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมนั้นโจทก์บรรยายแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็น 4 สำนวนสำนวนละ 2 กระทง คือสำนวนแรก กระทงแรกวันที่ 10 เมษายน 2518 จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อนางสาวนิภาภรณ์ เจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ จำนวน 11 ฉบับ และกระทงที่สองวันที่ 3 มิถุนายน 2518 จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานกรุงเทพ จำนวน 12 ฉบับ สำนวนที่สอง กระทงแรก วันที่ 10 สิงหาคม 2519 จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อนางสาวนิภาภรณ์ เจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสำนักงานใหญ่ จำนวน 15 ฉบับ และกระทงที่สอง วันที่ 6 ตุลาคม 2519จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานกรุงเทพ จำนวน 15 ฉบับ สำนวนที่สามกระทงแรก วันที่ 8 กันยายน 2518จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อนางสาวนิภาภรณ์ เจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ จำนวน 16 ฉบับ และกระทงที่สอง วันที่ 3 พฤษภาคม 2520 จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานกรุงเทพ จำนวน 10 ฉบับและสำนวนที่สี่ กระทงแรก วันที่ 23 กรกฎาคม 2518 จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อนางสาวนิภาภรณ์เจ้าหน้าที่ธนาคารนครหลวงไทยจำกัดสำนักงานใหญ่ จำนวน 10 ฉบับ และกระทงที่สอง วันที่ 4 มีนาคม2519 จำเลยทั้งสองใช้เอกสารปลอมต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานกรุงเทพ จำนวน 5 ฉบับ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมาจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม รวม 8 กระทง
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งและนำมาซึ่งอาวุธปืนเพื่อการค้า อันเป็นของต้องจำกัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า อาวุธปืนเป็นของต้องจำกัดตามความหมายของพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองสั่งอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตอันเป็นหนังสือราชการปลอม การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นแม้จำเลยทั้งสองจะได้ชำระค่าภาษีศุลกากรครบถ้วนแล้ว ก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจเข้าใจผิดไปว่าอาวุธปืนอันเป็นของต้องจำกัดนั้นได้รับอนุญาตให้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังหาพ้นจากความผิดดังกล่าวไปไม่เพราะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นครบองค์ประกอบเกี่ยวกับความผิดฐานนำของต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้าย คือจำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองสั่งอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตอันเป็นหนังสือราชการปลอมโดยจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นผู้นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าระบุชนิดของอาวุธปืน จำนวน ขนาด ประเทศที่ผลิตหรือสั่งซื้อให้ผิดไปจากใบอนุญาตที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นการสำแดงความเท็จหรือความไม่สมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482มาตรา 16 บัญญัติว่า ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่ ฉะนั้นจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว และความผิดฐานนี้เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ในความผิดดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำ 4 ครั้ง จึงเป็นความผิดรวม 4 กระทงด้วยกัน ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วย มาตรา 265 การกระทำของจำเลยทั้งสองฐานใช้เอกสารราชการปลอมเป็นความผิดรวม 8 กระทงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลกระทงละ 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99 ให้ลงโทษตามมาตรา 27ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เป็นความผิดรวม 4 กระทง ให้ปรับจำเลยที่ 1สี่เท่าของราคาอาวุธปืน รวมค่าอากรรวม 4 กระทง เป็นเงิน6,666,809.52 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,682,809.52 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 12 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามมาตรา 29ริบของกลางและให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความเพื่อขอรับเงินสินบนกับจ่ายเงินรางวัลให้เจ้าพนักงานผู้จับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share