แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างตามคำนิยามใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มีเพียงประเภทเดียว คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนั้น ลูกจ้างประจำจึงเป็นลูกจ้างประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะอย่างไรนั้นให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดว่าลูกจ้างประจำนั้นมีลักษณะอย่างไร จึงหมายความว่าลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นประจำ แม้จำเลยจะมิได้กำหนดว่าเมื่อครบกำหนดทดลองงานแล้วให้ลูกจ้างกลายเป็นลูกจ้างประจำทันที แต่ก็ต้องแปลว่า เมื่อลูกจ้างทำงานจนครบกำหนดระยะเวลาทดลองงานแล้วยังให้ทำงานต่อไปแสดงว่า จำเลยตกลงจ้างลูกจ้างนั้นต่อไปเป็นประจำ จึงกลายเป็นลูกจ้างประจำ
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานซึ่งเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องกำหนดให้ ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพ เมื่อจำเลยแก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจากเดิมที่กำหนดไว้ 115 วัน เป็น 1 ปี ย่อมทำให้สิทธิของลูกจ้างซึ่งจะได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพ เปลี่ยนจากได้รับเมื่อพ้นเวลา 115 วันเป็น 1 ปี เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 การแก้ไขดังกล่าวจึงไม่มีผล ต้องถือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพจ้างเดิม การที่จำเลยทำสัญญาจ้างกับโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานเกินกว่า 115 วัน จึงเป็นการทำสัญญากับลูกจ้างขัดแย้งกับข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับอยู่ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและได้รับค่าจ้างเท่าเดิม หากจำเลยไม่ประสงค์ที่จะรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงาน โจทก์ที่ 1 ขอเรียกค่ารถจำนวน 1,600 บาท ค่าคูปองอาหาร จำนวน 2,800 บาท ค่าครองชีพจำนวน 8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง ค่าจ้างจำนวน 5,970 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ค่าชดเชยจำนวน 16,110 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 10,000 บาท โจทก์ที่ 2 ขอเรียกค่ารถจำนวน 7,200 บาท ค่าคูปองอาหารจำนวน 9,600 บาท ค่าครองชีพ จำนวน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ค่าชดเชย จำนวน 42,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ค่าจ้างจำนวน 537 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 50,000 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่ารถ ค่าคูปองอาหารค่าครองชีพ แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 12,400 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 52,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,370 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,370 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 10,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,370 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 15,840 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้ค่ารถเดือนละ 200 บาท ค่าคูปองอาหารเดือนละ 350 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาท จากจำเลยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ เห็นว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานของโจทก์ทั้งสองได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังบริษัทจำเลยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพและสามารถตกลงกันได้โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงซึ่งได้มีการตกลงเปลี่ยนแปลงกันมาจนถึงปัจจุบันที่ระบุว่าลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับค่ารถเดือนละ 200 บาท ค่าคูปองอาหารเดือนละ 350 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาท ต่อมาปี 2543 จำเลยได้เปลี่ยนกำหนดระยะเวลาทดลองงานเป็น 1 ปี เห็นว่า ลูกจ้างตามคำนิยามในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 มีเพียงประเภทเดียว คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนั้น ลูกจ้างประจำจึงเป็นลูกจ้างประเภทหนึ่งซึ่งจะมีลักษณะอย่างไรนั้นให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อพิจารณาระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยก็ไม่ได้กำหนดว่าลูกจ้างประจำนั้นมีลักษณะอย่างไร จึงหมายความว่าลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นประจำ แม้จำเลยจะมิได้กำหนดว่าเมื่อครบกำหนดทดลองงานแล้วให้ลูกจ้างนั้นกลายเป็นลูกจ้างประจำทันที แต่ก็ต้องแปลว่าเมื่อลูกจ้างทำงานจนครบกำหนดระยะเวลาทดลองงานแล้วจำเลยยังให้ทำงานต่อไปแสดงว่า จำเลยตกลงจ้างลูกจ้างนั้นต่อไปเป็นประจำ จึงกลายเป็นลูกจ้างประจำทำให้มีสิทธิได้รับค่ารถเดือนละ 200 บาท ค่าคูปองอาหารเดือนละ 350 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาท
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานซึ่งเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องกำหนดให้ ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหารและค่าครองชีพ เมื่อจำเลยแก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานจากเดิม 115 วัน เป็น 1 ปี ย่อมทำให้สิทธิของลูกจ้างซึ่งจะได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพเปลี่ยนจากได้รับเมื่อพ้นระยะเวลา 115 วัน เป็น 1 ปี นั้น เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 การแก้ไขดังกล่าวจึงไม่มีผล ต้องถือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม การที่จำเลยทำสัญญาจ้างกับโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานเกินกว่า 115 วันนั้น จึงเป็นการทำสัญญากับลูกจ้างขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับอยู่ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เมื่อโจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลยพ้นระยะเวลาทดลองงาน 115 วัน ถือว่าเป็นลูกจ้างประจำจึงมีสิทธิได้รับค่ารถเดือนละ 200 บาท ค่าคูปองอาหารเดือนละ 350 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาท จากจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.