คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่กฎหมายกำหนดให้มีการอุทธรณ์การประเมิน ก็เพื่อให้ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประการใด เมื่อพิจารณาแล้ว ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขความเห็นของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควรในขณะที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กรมสรรพากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าภาษีที่มีการอุทธรณ์ดังกล่าวและให้จำเลยอื่น ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นร่วมรับผิดกับจำเลยที่1 ด้วย จะนำอำนาจยึดอายัดทรัพย์ตามมาตรา 12 แห่ง ประมวลรัษฎากรมาเป็นเหตุอ้างว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกันกับการนำคดีมาฟ้อง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2524 เสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้น ต่างได้รับส่วนแบ่งเงินทุนคืนเมื่อเสร็จการชำระบัญชีและคงค้างชำระมูลค่าหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประจำปี 2524 และไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 เลิกกิจการ โจทก์อนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 มาทำการไต่สวนและตรวจสอบ ผลปรากฏว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า ภาษีรายได้บำรุงเทศบาลรวมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 2,720,751.32 บาทให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรได้เฉพาะเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่6 ได้รับส่วนแบ่งเงินทุนคืนเมื่อเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงิน18,924 บาท และเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค้างชำระอีก249,000 บาท รวมเป็นเงิน 267,924 บาท โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนที่กล่าวแล้วให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งเงินทุนคืนเมื่อเสร็จการชำระบัญชีและเงินค่าหุ้นที่ยังคงค้างชำระ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้และภาษีการค้ามาตลอด จำเลยที่ 1 มิได้รับหมายเรียกจากโจทก์แต่ประการใดการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการประเมินโดยไม่ชอบ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย จะถือว่าจำเลยที่ 1 มีมูลหนี้ภาษีอากรที่แน่นอนต่อโจทก์ยังไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 23กรกฎาคม 2524 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2525 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกลงวันที่ 9มกราคม 2527 ถึงผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เพื่อทำการตรวจสอบไต่สวน วันที่ 30 มีนาคม 2527 เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีอากรที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ทราบ วันที่ 7 พฤษภาคม2527 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัย โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง คดีมีปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีอากรไปยังบุคคลใด หากเป็นกรณีที่ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินบุคคลนั้นย่อมอุทธรณ์การประเมินต่อผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์หรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้แล้วแต่กรณี ที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ก็เพื่อให้ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประการใด เมื่อพิจารณาแล้วผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขความเห็นของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควร โดยทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้อุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 34 บัญญัติไว้ คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัย ดังนี้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์ตามที่แจ้งการประเมินไปซึ่งจำเลยอื่นๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ชอบที่จะต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การอุทธรณ์การประเมินเป็นเรื่องบังคับผู้รับการประเมินฝ่ายเดียว ประมวลรัษฎากรไม่ได้บัญญัติว่า โจทก์จะฟ้องคดีระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้โจทก์จึงฟ้องคดีได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หากตีความเช่นนั้นบทบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากรก็จะไร้ประโยชน์ส่วนเหตุผลของโจทก์ตามคำแก้ฎีกาที่ว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินแล้วหากผู้รับประเมินไม่ชำระ ถือเป็นภาษีค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 โจทก์มีอำนาจยึดอายัดทรัพย์เพื่อให้ได้มาซึ่งภาษีอากรค้างชำระได้ โจทก์ก็ย่อมฟ้องคดีเพื่อให้ได้มาซึ่งภาษีอากรได้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาเรื่องภาษีอากรค้างกับปัญหาเรื่องการนำคดีมาฟ้องเป็นคนละปัญหานำมาเทียบเคียงกันไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ฟังขึ้น’
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share