แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 7 มิได้ให้การต่อสู้คดีในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมไว้เช่นเดียวกับจำเลยอื่นจึงไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์เพราะเป็นข้ออุทธรณ์ที่นอกเหนือคำให้การของตน ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็ไม่มีผลให้จำเลยที่ 7 มีสิทธิฎีกา โจทก์เป็นเจ้าของสะพานเทพหัสดินทร์ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 5 แม้จำเลยที่ 1 ได้ออกเงินค่าซ่อมแซมสะพานที่เสียหายนั้นไปแทนโจทก์ ก็เป็นการออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนเท่านั้น โจทก์ยังต้องชดใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ทดรองจ่ายไปดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง สัญญาเอกสารหมาย ล.15 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างบริษัท น. เป็นผู้รับจ้างซ่อมสะพานโดยได้จ่ายค่าซ่อมสะพานแทนจำเลยที่ 3 ไปก่อนแล้ว จำเลยที่ 3 จะจ่ายเงินนั้นคืนให้จำเลยที่ 1สัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสะพานที่ถูกละเมิดกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหาทำให้หนี้ซึ่งเกิดจากมูลละเมิดระงับไปไม่ สะพานเทพหัสดินทร์มีช่องกลางสะพานให้เรือลอด ได้ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ผู้เดินเรือด้วยกัน ช่องทางที่เกิดเหตุเรือชนเสาสะพานไม่ใช่ช่องทางให้เรือแล่น การที่เรือพ่วงชนเสาสะพานจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือลากจูงที่ไม่บังคับเรือเข้าไปในช่องทางที่ใช้เป็นทางสำหรับให้เรือแล่นผ่านโดยเฉพาะ เป็นเหตุให้ผักตบชวาไปปะทะ กับหัวเรือพ่วงที่ลากจูงมาแล้วเบี่ยงเบนไปชนกับเสาสะพานจนเกิดความเสียหาย ในระหว่างที่จำเลยที่ 5 ขับเรือลากจูงเรือพ่วงของจำเลยที่ 1นั้นยังมืดอยู่ไม่มีแสงจันทร์ และจำเลยที่ 5 ไม่ได้ใช้ไฟฉายเป็นสัญญาณใด ๆ ระหว่างเรือลากจูงกับเรือพ่วงเลย จำเลยที่ 5 เห็นผักตบชวาในระยะใกล้เมื่อเรือเข้าไปอยู่ใต้สะพานแล้วไม่สามารถกลับลำได้ จึงไม่มีทางที่ผู้ที่อยู่ในเรือพ่วงจะทราบและเตรียมป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ การที่เรือพ่วงชนสะพานของโจทก์จึงมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ผู้ควบคุมเรือพ่วง กรมทางหลวงโจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการ มีระเบียบแบบแผนในการหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งในกรณีที่มีการละเมิดเกิดขึ้น จะถือเอาวันที่อธิบดีของโจทก์รับทราบโดยทางบอกเล่าหรือโดยทางหนังสือพิมพ์นั้นหาได้ไม่ ต้องถือเอาวันที่อธิบดีของโจทก์รับทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เป็นวันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน การที่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ จำเลยที่ 9 ว่าจ้างจำเลยที่ 7 เจ้าของเรือลากจูงไปทำการลากจูงเรือพ่วงโดยจำเลยที่ 5ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 7 เป็นผู้ควบคุมเรือแล้วขับไปชนสะพานเทพหัสดินทร์ เท่ากับจำเลยที่ 7 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 9 และถือได้ว่าจำเลยที่ 9 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ด้วย จำเลยที่ 9จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 7 ในผลแห่งละเมิด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสะพานเทพหัสดินทร์ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำบางปะกง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือบาส(เรือพ่วง) และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมเรือบาส ดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 5 และ ที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 7 มีหน้าที่ควบคุมเรือและเครื่องยนต์เรือลากจูงศุภนาวา 63 ซึ่งจำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 9 เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ 1 ทำการขนส่งอุปกรณ์และสิ่งของที่บรรทุกอยู่ในเรือบาส ของจำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 7 อีกทอดหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2525จำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้ร่วมกันขับเรือศุภนาวาลากจูงเรือบาส ซึ่งควบคุมบังคับโดยจำเลยที่ 2 ไปตามลำแม่น้ำบางปะกง ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ด้วยความประมาทเลินเล่อลอดใต้สะพานเทพหัสดินทร์ ชนกระแทกกับเสาสะพานจนหักออกจากกันจำนวน 2 ต้น ชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ 3 ต้น คานรับพื้นสะพานและพื้นสะพานทรุดเอียงตัว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมสะพานดังกล่าวเป็นเงิน 6,810,363.17 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งเก้าให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งเก้าเพิกเฉยเสีย โจทก์เพิ่งทราบถึงการละเมิดของจำเลยทั้งเก้า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2526 ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น7,749,586.89 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ให้การปฏิเสธความรับผิด
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 รับจ้างจำเลยที่ 9 ซึ่งทำสัญญาทางเรือไว้กับจำเลยที่ 1 เหตุที่เรือบาส ของจำเลยที่ 1 ชนเสาสะพานโจทก์เพราะเรือดังกล่าวไม่มีหางเสือและไม่มีคุณสมบัติเป็นเรือบรรทุกในท้องน้ำ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือบาส และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่มีคุณวุฒิและความสามารถในการควบคุมเรือทั้งการให้ลากจูงเรือได้กระทำกันในเวลากลางคืนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ต้องการความประหยัดค่าใช้จ่าย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 7 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเกินความเป็นจริง และคดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 9 ทำสัญญารับจ้างจำเลยที่ 1ทำการลาดจูงเรือบาส ของจำเลยที่ 1 ไปบรรทุกของที่ท่าเรือสัตหีบในการนี้จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 7 ทำการลาดจูงแทนโดยมีข้อตกลงให้รับผิดชอบขาดตอนไป จำเลยที่ 9 ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือให้ความยินยอมในการลากจูงเรือและละเมิดต่อโจทก์ หลังจากการละเมิดแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ได้ทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมสะพานแล้วจำเลยที่ 3 จะจ่ายคืนให้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดชอบ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมสะพาน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายของโจทก์ที่เรียกร้องเกินความจริง และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 6,810,363.17 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 7 ที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 9
โจทก์และจำเลยที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาฟ้องเคลือบคลุมว่า จำเลยที่ 7 มิได้ให้การต่อสู้คดีในเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกับจำเลยอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์เพราะเป็นข้ออุทธรณ์ที่นอกเหนือคำให้การของตน ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 7 มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นของเจ้าของสะพานเทพหัสดินทร์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 5 แม้จำเลยที่ 1 ได้ออกเงินค่าซ่อมแซมสะพานที่เสียหายนั้นไปแทนโจทก์ ก็เป็นการออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนเท่านั้น โจทก์ยังต้องชดใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ทดรองจ่ายไปดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนสัญญาเอกสารหมาย ล.15 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ยินยอมให้ จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด เป็นผู้รับจ้างซ่อมสะพานโดยได้จ่ายค่าซ่อมสะพานแทนจำเลยที่ 3 ไปก่อนแล้ว จำเลยที่ 3 จะจ่ายเงินนั้นชดใช้คืนให้จำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวนั้นจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หาทำให้หนี้ซึ่งเกิดจากมูลละเมิดระงับไปไม่
ปัญหาความประมาทเลินเล่อ เห็นว่า สะพานเทพหัสดินทร์ ได้สร้างซ่อมกลางสะพานให้เรือลอดโดยมีลักษณะพิเศษคือมีตอหม้อหนาใหญ่เป็นพิเศษมียางรับกันกระแทกด้วย พื้นกลางช่องสะพานปิดเปิดให้เรือที่มีความสูงมากพิเศษผ่านได้ เป็นที่รู้กันทั่วไปสำหรับผู้เดินเรือด้วยกัน ช่องทางที่เกิดเหตุเรือชนเสาสะพานไม่ใช่ช่องทางให้เรือวิ่ง จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การที่เรือบาส ชนเสาสะพานนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือศุภนาวาที่ไม่บังคับเรือเข้าไปในช่องทางที่ใช้เป็นทางสำหรับให้เรือแล่นผ่านโดยเฉพาะ แต่นำเรือเข้าไปในช่องทางที่ไม่ได้สร้างสำหรับให้นำเรือลอดเป็นเหตุให้ผักตบชวาไปปะทะกับหัวเรือบาส ที่ลากจูงมาแล้วเบี่ยงเบนไปชนกับเสาสะพาน จนเกิดความเสียหาย ในระหว่างที่จำเลยที่ 5 ขับเรือศุภนาวาลากจูงเรือบาส ของจำเลยที่ นั้น ยังมืดอยู่ ไม่มีแสงจันทร์และจำเลยที่ 5 ไม่ได้ใช้ไฟฉายเป็นสัญญาณใด ๆ ระหว่างเรือศุภนาวากับเรือบาส นั้นเลย และจำเลยที่ 5 เห็นผักตบชวานั้นในระยะใกล้เมื่อเรือเข้าไปอยู่ใต้สะพานแล้วไม่สามารถกลับลำได้ จึงเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ขับเรือศุภนาวาเห็นผักตบชวาต่อเมื่อนำเรือดังกล่าวเข้าไปอยู่ใต้สะพานแล้วและมิได้ให้สัญญาณใด ๆ แก้ ผู้อยู่ในเรือบาส ก็ไม่มีทางที่ผู้อยู่ในเรือบาส จะทราบและเตรียมป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ การที่เรือบาส ชนสะพานของโจทก์ จึงมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2
ส่วนปัญหาอายุความ เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการมีระเบียบแบบแผนในการหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งในกรณีที่มีการละเมิดเกิดขึ้น จะถือเอาวันที่อธิบดีของโจทก์รับทราบโดยทางบอกเล่าหรือโดยทางหนังสือพิมพ์นั้นยังไม่ได้ ในการละเมิดครั้งนี้ปรากฏว่า กรมทางหลวงโจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่งในเหตุที่เกิดขึ้นและอธิบดีกรมทางหลวงได้รับทราบผลการสอบสวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2526ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและเพิ่งรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่23 มิถุนายน 2526 นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
สำหรับปัญหาความรับผิดของจำเลยที่ 9 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 9ว่าจ้างจำเลยที่ 7 เจ้าของเรือศุภนาวาไปทำการลากจูงเรือบาส โดย จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 7 เป็นผู้ควบคุมเรือแล้วขับไปชนสะพานดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 7 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 9 และถือได้ว่าจำเลยที่ 9 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 9ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที 5 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 7 และจำเลยที่ 5 ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ด้วย.