คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์จะมิได้ยกข้อกฎหมายเรื่องห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ขึ้นว่ากล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง ระบุว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะยืมใช้สิ้นเปลือง ดังนั้นที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นเหตุให้สัญญากู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์ทั้งไม่มีมูลหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์จำเลย การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เพราะจำเลยไม่ได้รับเงิน จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินต่อโจทก์ จำเลยย่อมนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่
เมื่ออุทธรณ์โจทก์ไม่มีประเด็นว่า ว. เป็นตัวแทนจำเลยและเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างประเด็นดังกล่าวไว้ในคำแถลงการณ์ในชั้นอุทธรณ์ แต่คำแถลงการณ์ไม่ใช่คำฟ้องอุทธรณ์โจทก์จะตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแถลงการณ์ไม่ได้ ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า ว. เป็นตัวแทนจำเลยและเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยจึงต้องชำระหนี้แก่โจทก์จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 148,125 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารท้ายฟ้องกับโจทก์จริงแต่จำเลยไม่ได้รับเงินจึงได้บอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์และให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้ยืมเงินคืน แต่โจทก์บอกว่าได้ทำลายสัญญากู้ยืมเงินแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับการบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2534 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 100,000 บาท จากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1จำเลยรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยนำสืบโต้แย้งพยานเอกสารต้องห้ามตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 เพราะเอกสารดังกล่าวสมบูรณ์ตามกฎหมายเห็นว่า แม้ว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์จะมิได้ยกข้อกฎหมายเรื่องห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ขึ้นว่ากล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง ระบุว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะยืมใช้สิ้นเปลือง ดังนั้นที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นเหตุให้สัญญากู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์ทั้งไม่มีมูลหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์จำเลย การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เพราะจำเลยไม่ได้รับเงิน จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินต่อโจทก์ จำเลยย่อมนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคสอง หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จ่าอากาศตรีหญิงวิภาดาเป็นตัวแทนจำเลยและเป็นผู้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ไปจากโจทก์เป็นเรื่องตัวแทนกระทำการแทนตัวการจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น ในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีประเด็นว่าจ่าอากาศตรีหญิงวิภาดาเป็นตัวแทนจำเลยในการรับเงิน แต่โจทก์ยื่นคำแถลงการณ์ในชั้นอุทธรณ์ว่าโจทก์มอบเงินกู้ให้จ่าอากาศตรีหญิงวิภาดาผู้เป็นตัวแทนจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า คำแถลงการณ์ไม่ใช่คำฟ้องอุทธรณ์โจทก์จะตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแถลงการณ์ไม่ได้ ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่า จ่าอากาศตรีหญิงวิภาดาเป็นตัวแทนจำเลยและเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยจึงต้องชำระหนี้แก่โจทก์จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share