คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ถือว่าการประเมินสำหรับภาษีดังกล่าวยุติแล้ว จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งในศาลอีกต่อไป และประเด็นข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อในช่องผู้นำของเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดสินค้า อีกทั้งยังเป็นผู้รับสินค้าไปจากการตรวจปล่อยของโจทก์ที่ 1 ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1เจ้าของสินค้าให้เป็นตัวแทนเพื่อปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และจำเลยที่ 3 ก็ได้รับอนุมัติจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1เพื่อดำเนินการนำเข้าเกี่ยวกับสินค้ารายนี้แล้ว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 106 ซึ่งให้ถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของสินค้าที่นำเข้าในครั้งนี้ด้วยจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 106 บัญญัติให้ตัวแทนเป็นเจ้าของสินค้าด้วย ก็ต้องถือว่ามีความประสงค์ให้ตัวแทนมีความรับผิดเช่นเดียวกับเจ้าของสินค้าอันแท้จริงและตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ถ้าค่าภาษีที่ได้เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องเสียจริง กรมศุลกากรมีสิทธิเรียกเก็บส่วนที่ขาดจนครบ ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 จะได้ตรวจปล่อยสินค้าไปแล้ว หากปรากฏว่าค่าภาษีอากรที่เสียไว้ไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าหรือตัวแทนร่วมกันรับผิดชำระส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้ความรับผิดของตัวแทนที่ถือว่าเป็นเจ้าของสินค้าหาได้สิ้นสุดลงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันซื้อสินค้าตู้วิทยุพร้อมอุปกรณ์จากเมืองฮ่องกงและนำเข้ามาในราชอาณาจักรทางเครื่องบิน เมื่อสินค้าเข้ามาถึงด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพฯจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการขอปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 พร้อมกับลงลายมือชื่อของตนเองและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 ลงในช่องลายมือชื่อผู้นำเข้าในใบขนสินค้าฉบับดังกล่าว เพื่อแสดงให้เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 และบุคคลภายนอกเชื่อว่า จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าตามใบขนสินค้าดังกล่าวนั้น และจำเลยที่ 3เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ด้วย โดยจำเลยทั้งสองสำแดงชนิดของสินค้าว่าเป็นสินค้าไม่มีเครื่องหมายหรือยี่ห้อและประเทศกำเนิดจากเมืองฮ่องกง มีราคาสินค้า 9,624 บาทขอชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน6,021.18 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ยังไม่พอใจราคาสินค้าที่จำเลยสำแดง จึงส่งให้จำเลยชำระภาษีอากรตามที่จำเลยสำแดงไว้ดังกล่าวข้างต้นไปก่อน และให้จำเลยวางเงินประกันค่าภาษีอากรอีก6,000 บาท แล้วตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบพบว่าที่จำเลยสำแดงรายการต่าง ๆในใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวข้างต้นเป็นการสำแดงเท็จทั้งสิ้น เพราะสินค้าที่จำเลยนำเข้านั้น เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ “โรดสตาร์” (Roadstar)ประเทศกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1จึงประเมินราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้าเพิ่มขึ้น เมื่อนำเงินที่จำเลยวางประกันค่าภาษีอากรมาหักให้และหักส่วนลดให้แล้ว ยังไม่คุ้มค่าภาษีอากร โดยจำเลยยังจะต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลอีก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,880.24 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงได้ประเมินและแจ้งการประเมินไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยมิได้นำเงินค่าภาษีอากรมาชำระให้แก่โจทก์และมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินหรือยื่นคำโต้แย้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี และมาตรา 112 จัตวา กับต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ รวมเป็นเงินภาษีอากรซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 97,430.62บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 97,430.62 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยเงินเพิ่มอากรขาเข้า 34,145.38 บาทเป็นรายเดือน เดือนละ 34,145.38 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินจำนวน 34,145.38 บาท เสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่จำเลยสั่งสินค้าเข้ามาในประเทศก็เพื่อมีไว้จำหน่าย ซึ่งในการจำหน่ายสินค้าของจำเลย การคำนวณต้นทุน จำเลยจะต้องคำนวณจากราคาที่ซื้อมารวมค่าภาษีที่จำเลยได้ชำระไป การจำหน่ายสินค้าในคดีนี้ จำเลยได้คำนวณและจำหน่ายไปตามราคาที่จำเลยได้เสียไป ซึ่งโจทก์ตรวจสอบและปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปแล้ว หากโจทก์เห็นว่าสินค้าดังกล่าวจำเลยสำแดงไม่ถูกต้อง โจทก์มีอำนาจตามกฎหมายที่จะประเมินราคาสินค้าให้ถูกต้องได้ หลังจากจำเลยรับสินค้าไปแล้วได้นำออกจำหน่ายทั้งหมด ไม่มีสินค้าที่จะให้โจทก์ประเมินภาษีใหม่แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 47,430.62 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า34,145.38 บาท เป็นรายเดือนเดือนละ 341.45 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้นข้อเท็จจริงรับกันว่าจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ถือว่าการประเมินสำหรับภาษีดังกล่าวยุติแล้ว จำเลยที่ 3 จึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งในศาลอีกต่อไป และต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามฟ้องให้แก่โจทก์ และประเด็นข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะอากรขาเข้าว่า จำเลยที่ 3จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3อุทธรณ์ในประการแรกว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรตลอดจนรับสินค้าจากการตรวจปล่อยของเจ้าพนักงานโจทก์ที่ 1 ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรย่อมตกอยู่แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการและเป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรจำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าเกี่ยวกับความรับผิดของตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของสินค้าเพื่อดำเนินกิจการอย่างใด ๆ ตามกฎหมายศุลกากรนั้น พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 106 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้รับอำนาจจากเจ้าของสินค้าโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้เป็นตัวแทนในเรื่องสินค้านั้น ๆเพื่อกิจการอย่างใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ และการให้อำนาจนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุมัติแล้วไซร้ ท่านให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของสินค้าในกิจการนั้น ๆ ” ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อในช่องผู้นำของเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1และเป็นผู้ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดสินค้า อีกทั้งยังเป็นผู้รับสินค้าไปจากการตรวจปล่อยของโจทก์ที่ 1 ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 เจ้าของสินค้าให้เป็นตัวแทนเพื่อปฏิบัติการทางศุลกากรในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และจำเลยที่ 3ก็ได้รับอนุมัติจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินการนำเข้าเกี่ยวกับสินค้ารายนี้แล้วกรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 106 ซึ่งให้ถือว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของสินค้าที่นำเข้าในครั้งนี้ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามฟ้อง
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายที่ว่า แม้หากจะฟังว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ควรรับผิดเฉพาะในขณะที่จำเลยที่ 3 ปฏิบัติพิธีการศุลกากร ซึ่งถือว่า จำเลยที่ 3เป็นเจ้าของสินค้าในขณะนั้นเท่านั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมหมดไป ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 106 บัญญัติให้ตัวแทนเป็นเจ้าของสินค้านั้นด้วย ก็ต้องถือว่ามีความประสงค์ให้ตัวแทนมีความรับผิดเช่นเดียวกับเจ้าของสินค้าอันแท้จริง และตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ถ้าค่าภาษีที่ได้เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องเสียจริง กรมศุลกากรมีสิทธิเรียกเก็บส่วนที่ขาดจนครบ ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 จะได้ตรวจปล่อยสินค้าไปแล้ว หากปรากฏว่าค่าภาษีอากรที่เสียไว้ไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าหรือตัวแทนร่วมกันรับผิดชำระส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้ ความรับผิดของตัวแทนที่ถือว่าเป็นเจ้าของสินค้าหาได้สิ้นสุดลงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าดังที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ไม่
พิพากษายืน

Share