แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ การที่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของ จำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของภริยาจำเลยที่ 1 และเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 86ฐ268 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 86,268 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่ชนรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 2มิได้มีนิติสัมพันธ์และมิได้เป็นตัวแทนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่มีหน้าที่ที่จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามจำเลยที่ 1
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 86,268 บาทให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี หนี้จำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ดอกเบี้ยนั้นให้คิดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.บ.53053 ของจำเลยที่ 1 ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียนตราโล่ 03263 ของโจทก์เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้กรมทางหลวงเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่ามรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกันนี้ โดยอ้างว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำในทากงารที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลกับกรมทางหลวงยอมชำระเงินตามฟ้อง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 จะต้องรัผบิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 แต่ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏเพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวเท่านั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏเลยว่า จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์กันอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่2 เป็นตัวแทนที่กระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากในคดีที่กรมทางหลวงเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2ให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกันนี้จำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการปิดปากจำเลยที่ 1 มิให้โต้เถียงว่าไม่มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 และไม่ว่าคดีนี้จะเรียกจำเลยที่ 2 ว่าเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนที่กระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.