คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 และยึดได้ซองกระสุนขนาด .38 จำนวน 1 ซอง ได้จากกระเป๋าเดินทางที่ฝาบ้านจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 มีซองกระสุนของกลางไว้ในครอบครอง แต่เมื่อโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนขนาด .38 ไว้ในครอบครอง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนขนาด .38)ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) เป็นเพียงกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด แต่ศาลจะพิพากษาหรือสั่งเองโดยโจทก์มิได้ฟ้องหรือมีคำขอมาท้ายฟ้องหาได้ไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบของกลาง ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งริบของกลางไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนซองกระสุนและเครื่องกระสุนปืนขนาด .38 จำนวนหนึ่ง (ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด) และไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายและร่วมกันพาอาวุธดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวจากเจ้าพนักงาน จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายเผียน สุยแก้ว ผู้ตายด้วยเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุเจ้าพักงานยึดได้ปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 4 ปลอก หัวกระสุนปืนขนาด .38จำนวน 1 หัว ได้จากที่เกิดเหตุเป็นของกลางกับยึดได้ซองกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 1 ซอง จากจำเลยเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(4), 83, 91 พระราชบัญญัติ>อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยเจตนาแต่มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อน และจำเลยที่ 1 มีซองกระสุนของกลาง 1 ซอง ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคำฟ้องนอกนั้นรับฟังไม่ได้ พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 20 ปีและจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 72 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี 6 เดือน ริบของกลางข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหามีอาวุธปืนและไม่ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 มีซองกระสุนของกลางอันเป็นอาวุธปืนตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเพียงพันตำรวจตรีจำเริญ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความว่า หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้และยึดซองกระสุนปืนขนาด .38จำนวน 1 ซอง ได้จากในกระเป๋าเดินทางที่ข้างฝาบ้านจำเลยที่ 1ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4 แต่โจทก์ไม่มีพยานนำสืบในข้อเท็จจริงต่อไปอีกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนขนาด .38 ไว้ในครอบครอง ดังนั้นหากแม้นจะฟังว่า จำเลยที่ 1มีซองกระสุนของกลางไว้ในครอบครอง แต่โจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนขนาด .38 ไว้ในครอบครองการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืน(ซองกระสุนขนาด .38) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาในข้อต่อมาว่า ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1) เป็นเพียงกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดแต่ศาลจะพิพากษาหรือสั่งเองโดยโจทก์มิได้ฟ้องหรือมีคำขอมาในฟ้องหาได้ไม่ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคแรก บัญญัติว่า ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบทรัพย์ของกลางศาลจึงพิพากษาหรือสั่งริบของกลางไม่ได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินได้ใช้หรือไม่ไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ดังกล่าวแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีมาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share