คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2336/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าบริษัท ต. ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ละครเรื่อง “วันพีช” แม้ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่เมื่องานสร้างสรรค์ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นภาพยนตร์ที่มีอายุความคุ้มครองห้าสิบปีนับแต่สร้างสรรค์งาน แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกตามมาตรา 19 และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นอกจากโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องด้วยว่างานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ที่จำเลยกระทำละเมิดนั้นได้สร้างสรรค์หรือมีการนำออกโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่างานภาพยนตร์ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างอายุการคุ้มครองคือห้าสิบปีนับแต่วันที่สร้างสรรค์หรือนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกด้วย เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงมิชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ละครเรื่อง “วันพีช” แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า จำเลยนำสมุดภาพระบายสีที่มีตัวละครเรื่อง “วันพีช” ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมวางจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มิใช่การนำภาพยนตร์ออกจำหน่าย อันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของผู้เสียหายตามฟ้อง กรณีจึงไม่แน่ชัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานประเภทใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 31, 69, 70, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง และให้จำเลยจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบริษัทผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ เพียงแต่บรรยายว่าบริษัทผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ละครเรื่อง “วันพีช” เท่านั้น และตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นเรื่องที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมา ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบริษัทโตเอะ แอนิเมชั่น จำกัด ผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ละครเรื่อง “วันพีช” ที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ โดยบรรยายเพียงว่าบริษัทผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องด้วยมาตรา 19 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก” เมื่องานสร้างสรรค์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นภาพยนตร์ที่มีอายุความคุ้มครองห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งาน แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ดังนั้นนอกจากโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องด้วยว่างานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ที่จำเลยกระทำละเมิดนั้นได้สร้างสรรค์หรือมีการนำออกโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่างานภาพยนตร์ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างอายุการคุ้มครองคือห้าสิบปีนับแต่วันที่สร้างสรรค์หรือนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าการที่จำเลยขายและมีไว้เพื่อขายสมุดภาพระบายสีที่มีตัวละครเรื่อง “วันพีช” นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งยังอยู่ในระหว่างอายุการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 ด้วย” ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ละครเรื่อง “วันพีช” แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า จำเลยนำสมุดภาพระบายสีที่มีตัวละครเรื่อง “วันพีช” ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมวางจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มิใช่การนำภาพยนตร์ออกจำหน่าย อันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของผู้เสียหายตามฟ้อง กรณีจึงไม่แน่ชัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานประเภทใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมและไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share