แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำเงินตราซึ่งเป็นธนบัตรไทยจำนวนหกพันบาทเข้ามาในประเทศเป็นความผิด เพราะมีจำนวนเกินกว่าห้าร้อยบาทนั้น ความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หาใช่เงินตราดังกล่าวเป็นของผิดกฎหมายที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดไม่ จึงริบเงินตราไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักลอบนำเงินเหรียญโลหะเงินเปียสชนิดต่าง ๆ และเศษเงินรวมราคาทั้งสิ้น ๖๙๑ บาทเศษ ซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดจากประเทศลาว เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยยังมิได้เสียภาษีและได้นำเงินตราธนบัตรไทยรวม ๖,๐๐๐ บาท เข้ามาในประเทศเกินกว่ามูลค่าห้าร้อยบาทไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ฯลฯ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๘, ๙ ฯลฯ ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนกับเงินรางวัล
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ฯลฯ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ ฯลฯ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๙๑ ลงโทษจำคุกและปรับ ริบเงินอินโดจีนและเศษโลหะเงินทั้งหมด ส่วนของกลางที่เป็นธนบัตรไทยจำนวน ๖,๐๐๐ บาท นั้นมิใช่ทรัพย์สินซึ่งทำหรือมีไว้เป็นความผิด และกรณีไม่เข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร มิใช่ทรัพย์สินจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ จึงคืนให้แก่เจ้าของไป ให้จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบเงิน ๖,๐๐๐ บาทของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเงินตราของกลางจำนวน ๖,๐๐๐ บาท เข้ามาในประเทศอันเป็นความผิดต้องรับโทษเพราะจำเลยนำเงินตราเข้ามาเกินกว่า ๕๐๐ บาทตามที่รัฐมนตรีประกาศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ความผิดของจำเลยอยู่ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หาใช่จำเลยมีความผิดเพราะนำเงินตราของกลางซึ่งเป็นของผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไม่ ทั้งเงินตราของกลางเป็นธนบัตรของรัฐบาลไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ จึงริบเงินตราของกลางไม่ได้
พิพากษายืน