คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 จอดรถรอเลี้ยวอยู่ในช่องกลับรถไม่ล้ำเข้าไปกีดขวางการจราจรในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 157 มาด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างและความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แต่เมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองต่างขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยทั้งสองจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นฉน กท 487 มีนายอนุชา เชื้อนาม นั่งซ้อนท้ายไปตามถนนลาดพร้าว จากแยกโชคชัย 4 มุ่งหน้าไปบางกะปิ ส่วนจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน รท 5613 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนลาดพร้าวจากบางกะปิมุ่งหน้าไปทางแยกโชคชัย 4 เมื่อจำเลยทั้งสองขับรถมาถึงบริเวณปากซอยลาดพร้าว 87 ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจใช้ความระมัดระวังได้เพียงพอ แต่จำเลยทั้งสองหาได้กระทำไม่ โดยจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรที่ห้ามเลี้ยวขวาและกลับรถ โดยนำรถเลี้ยวขวาเข้าไปในช่องว่างของเกาะกลางถนนเพื่อจะเลี้ยวเข้าซอยลาดพร้าว 87 เป็นเหตุให้รถของจำเลยที่ 2 กีดขวางเส้นทางเดินรถที่จะเลี้ยวขวาหรือกลับรถตรงบริเวณดังกล่าว ซึ่งขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ก็ได้ขับรถจักรยานยนต์ขณะมึนเมาสุราและใช้ความเร็วสูงเกินสมควร เมื่อพบเห็นจำเลยที่ 2 เลี้ยวรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรดังกล่าวจึงไม่สามารถชะลอความเร็วของรถแลควบคุมรถให้แล่นผ่านบริเวณดังกล่าวไปได้โดยปลอดภัย รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงพุ่งชนเข้ากับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ตรงบริเวณช่องว่างของเกาะกลางถนนดังกล่าว เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายอนุชาได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสถึงป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางนิภา เชื้อนาม มารดาของนายอนุชา เชื้อนาม ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 42 (2), 160 (ที่ถูก 160 วรรคสาม) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 291 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 157 ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 900 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 600 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทด้วยความเร็วสูงในขณะมึนเมาสุรา โดยมีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายไปด้วยด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจอดอยู่ในช่องว่างของเกาะกลางถนนโดยฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร (ห้ามเลี้ยวขวาหรือกลับรถ) เพื่อที่จะรอเลี้ยวเข้าซอย โดยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จอดอยู่ในช่องกลับรถไม่ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ทั้งนี้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าชนที่บริเวณกันชนด้านหน้าของรถยนต์ของจำเลยที่ 2…
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 จอดรถรอเลี้ยวอยู่ในช่องกลับรถไม่ล้ำเข้าไปกีดขวางการจราจรในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 157 มาด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างและความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 157 นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share