แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า “วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท” นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า “เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท” ข้อ 2 ระบุว่า “ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม” จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน
ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย โดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วแต่กรณี
จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคาร ม. เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนองดังกล่าว ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,00,000 บาท อีกต่างหาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้เรียกเก็บจากลูกค้าไว้ 4 อัตรา ส่วนในการเรียกดอกเบี้ยนั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนี้ ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคาร ม. และโจทก์จะเรียกได้สูงสุดเพียงใดนั้น จะต้องแยกเป็นอัตราสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ กับอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวหากมีข้อสัญญาให้ธนาคาร ม. เรียกได้ก็จะเป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายในการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามควรไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383
ธนาคาร ม. มีเจตนาทำสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับกับจำเลยที่ 1 เพื่อคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อสัญญาการคิดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ขอวงเงินสินเชื่อกับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าซื้อสินค้าที่สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศในวงเงิน 50,000,000 บาท โดยตกลงว่า หากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายไม่ว่าประการใดๆ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้เงินค่าเสียหายคืนให้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับความเสียหายเป็นต้นไป และยินยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำต้องแจ้งให้ทราบโดยตรงหรือตกลงใดๆ กันใหม่อีก ในการนี้มีจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78694, 78695, 78696 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 25,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงด้วยว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระเงินค่าซื้อสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศรวม 28 ฉบับ เมื่อผู้ขายได้ส่งสินค้าพร้อมตั๋วแลกเงินกับเอกสารกำกับสินค้าให้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีท รวม 28 ฉบับ และรับเอกสารไปออกสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายก่อนโดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระเป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ชำระเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแทนจำเลยที่ 1 ไปพร้อมดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศโดยวิธีการหักบัญชีแล้วแต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ครบถ้วน โดยชำระดอกเบี้ยเพียงบางส่วนแก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ยังคงค้างชำระเป็นต้นเงิน รวมจำนวน 62,195,469.33 บาท ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องในอัตราภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยรวมเป็นเงินจำนวน 27,176,413.46 บาท ค่าไปรษณีย์รวมเป็นเงิน 2,150 บาท ค่าธรรมเนียมรวมเป็นเงินจำนวน 105,828.30 บาท และค่าอากรแสตมป์รวมเป็นเงินจำนวน 815 บาท รวมเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 89,480.09 บาท ต่อมาธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้โอนกิจการให้โจทก์โดยโจทก์ได้เข้าบริหารกิจการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 โจทก์จึงรับโอนหนี้สินและสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มีต่อจำเลยทั้งสอง โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวและบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังคงเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงินจำนวน 89,480,676.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 62.195,469.33 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยทำสัญญาการขอเครดิตเพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2538 และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2538 และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 3 แปลง เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 25,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือยินยอมทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับจำนองรวม 3 แปลง ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2542 การทำบันทึกฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้ยันจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยทั้งสองมิได้ขอให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศและมิได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นหนี้โจทก์และไม่ต้องรับผิดในเงินค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ เพราะจำเลยทั้งสองมิได้ตกลงยินยอมให้โจทก์คิดเงินดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ดอกเบี้ยที่เกินอัตราดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดไม่เกินวงเงินค้ำประกันจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 89,480,676.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 62,195,469.33 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงิน 50,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบไม่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ภายในวงเงินจำนองตามสัญญาจำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท แต่เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 ทำสัญญาการขอเครดิตเพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงิน (ทรัสต์รีซีท) กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 50,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารดังกล่าว ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย ตามสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต เพื่อการชำระเงินค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศหลายครั้ง และได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับธนาคารดังกล่าวรวม 28 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารไปรับสินค้าก่อน โดยสัญญาจะชำระเงินค่าสินค้าที่ธนาคารดังกล่าวจ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตพร้อมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่ธนาคารดังกล่าวตามกำหนดเวลาในสัญญาทรัสต์รีซีทตามสัญญาทรัสต์รีทพร้อมเอกสารการคิดคำนวณจำนวนหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ เอกสารหมาย จ.41 ถึง จ.68 และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวต่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ต่อมาธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้โอนกิจการให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 โจทก์จึงทวงถามและมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้โอนหนี้อันเป็นสินทรัพย์รายนี้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ซึ่งได้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่สิทธิเรียกร้องในหนี้รายจำเลยทั้งสองแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งบรรษัทดังกล่าวได้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนแล้วและขอให้ดำเนินคดีนี้ต่อไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 62,195,469.33 บาท จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในต้นเงินดังกล่าวเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ เพราะตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 2 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดชดใช้เงินแก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เต็มจำนวนที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้แก่ธนาคาร เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 หน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า “วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท” นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า “เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่บริษัทเซี่ยงไฮ้เอเลเวเทอร์ จำกัด (จำเลยที่ 1) เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงิน (การทำสัญญาทรัสต์รีซีท) ต่อธนาคาร (ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน)) ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท ความละเอียดตามสัญญาการขอเครดิตเพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงิน ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2538 แล้วนั้น” แล้วข้อ 2 ระบุว่า “ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือบริษัทเซี่ยงไฮ้เอเลเวเทอร์ จำกัด ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม” จากข้อสัญญาดังกล่าวมานี้ เห็นได้ว่ามีการระบุจำนวนเงินค้ำประกันไว้โดยชัดเจน ทำให้เห็นถึงความประสงค์โดยสุจริตของจำเลยที่ 2 ได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท ดังที่ระบุไว้เท่านั้น โดยหากสัญญาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนายอมค้ำประกันโดยไม่จำกัดจำนวนก็ไม่จำต้องระบุวงเงินไว้แต่อย่างใด ดังนั้น หากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินจำนวนเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาเข้าค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกันนั้น อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 นี้ ยังมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ด้วย และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกันนั้น ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย หาใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเพียงบางส่วนเท่านั้น และเมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในต้นเงินเพียง 50,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวต่างหาก แต่จำนวนต้นเงินนี้ต่ำกว่าจำนวนต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ จึงต้องด้วยกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายรายโดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดไม่เต็มจำนวนหนี้ทุกรายเท่ากับไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสองแล้ว แต่กรณีด้วย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกข้อหนึ่งว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเกี่ยวกับการบังคับทรัพย์จำนองโดยระบุว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ภายในวงเงินจำนองตามสัญญาจำนองชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 จำเลยที่ 2 ผู้จำนองยอมรับผิดในดอกเบี้ยประธานที่มีการจำนองเงินประกันนั้นในวงเงินจำนอง 25,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองด้วย เห็นว่า ตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง เอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนวนดังกล่าว ดังนี้ ตามสัญญาจำนองนี้ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,000,000 บาท อีกต่างหากการบังคับจำนองชำระหนี้ตามสัญญาจำนองนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองเพื่อชำระหนี้ในวงเงินจำนวน 25,000,000 บาท กับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวมานี้เมื่อไม่พอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ทั้งหมด กรณีจะถือเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับใดรวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ก็เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ในมูลหนี้หลายรายเช่นเดียวกับที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในปัญหาตามอุทธรณ์ข้อแรกดังกล่าวมาข้างต้น จึงย่อมมีผลเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ปรากฏตามคำฟ้องว่าในการคิดดอกเบี้ยในคดีนี้มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด(มหาชน) และประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งออกประกาศตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.70 โดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้เป็นประกาศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพื่อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2504 มาตรา 14 (2) ที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) และโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตาม เพราะหากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดที่ต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้เรียกเก็บจากลูกค้า 4 อัตรา ได้แก่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้มีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ส่วนในการเรียกดอกเบี้ยนั้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนี้ ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) และโจทก์จะเรียกได้สูงสุดเพียงใดนั้น จะต้องแยกเป็นอัตราสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ กับอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวหากมีข้อสัญญาให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เรียกได้ก็จะเป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายในการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามควรไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับนี้หากสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจที่จะยกขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 และเมื่อพิจารณาข้อสัญญาเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 28 ฉบับ รวมทั้งรายละเอียดการคิดดอกเบี้ยในชุดเอกสารหมาย จ.41 ถึง จ.68 แล้ว ปรากฏว่า สัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวมีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ปัจจุบัน (หมายถึงขณะทำสัญญา) เท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี (เฉพาะสัญญาทรัสต์รีซีทในชุดเอกสารหมาย จ.68 ฉบับเดียวระบุร้อยละ 24 ต่อปี)) นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระเงินค่าสินค้า… ส่วนสัญญาข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา… จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ดังนี้ เห็นได้ว่าการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 4 เป็นกรณีที่ยังมิได้มีการตกลงแยกไว้แล้วตามสัญญาข้อ 7 ดังนั้น ในสัญญาข้อ 4 อัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญาว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ย่อมหมายถึงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังกล่าวมาข้างต้นโดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ประกาศสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกกับส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารดังกล่าวประกาศไว้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารมหานครจำกัด (มหาชน) ประกาศไว้สำหรับดอกเบี้ยจากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดหรือเงื่อนไขนั้นเอง มิได้หมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ประกาศกำหนดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ผิดนัดหรือเงื่อนไข เพราะธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดได้ก็แต่เฉพาะเมื่อลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้นทั้งนี้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวข้อ 3 (4) แต่เมื่อสัญญาข้อ 7 กำหนดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้แล้วให้เท่ากับอัตราสัญญาข้อ 4 จึงต้องใช้อัตราเดียวกัน และมิใช่เป็นข้อสัญญาให้คิดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะผิดนัดชำระหนี้อันเป็นเบี้ยปรับการที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) และโจทก์คิดดอกเบี้ยในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดในอัตราผิดนัดทำนองเป็นเบี้ยปรับจึงไม่ชอบด้วยสัญญาดังกล่าว และยิ่งต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้ถูกต้องเสียยิ่งกว่าการลดเบี้ยปรับด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าเฉพาะตามสัญญาทรัสต์รีซีทและรายละเอียดการคิดดอกเบี้ยตามเอกสารในชุดหมาย จ.41 จ.42 จ.43 จ.44 จ.45 จ.46 จ.49 จ.50 จ.51 และ จ.54 รวม 10 ฉบับ นอกจากในสัญญาข้อ 4 ซึ่งเป็นข้อสัญญาเกี่ยวกับดอกเบี้ย กรณียังไม่ผิดนัดชำระหนี้จะมีการพิมพ์ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ในชุดเอกสารหมาย จ.70 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาแล้ว ยังปรากฏตามใบเสร็จรับเงินของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) 10 ชุด ที่เก็บเงินค่าดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับ ดังกล่าวนี้ในช่างระยะเวลาก่อนวันถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นเวลาที่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้โดยมีการเรียกดอกเบี้ยสูงถึงระดับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา คืออัตราร้อยละ 19 ต่อปีถึงร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อทั่วไปที่เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี บวกส่วนต่างสูงสุดตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ฉบับที่มีผลใช้บังคับในขณะเรียกเก็บค่าดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 (4) ดังกล่าวมาแล้ว แสดงว่าธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มีเจตนาทำสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ เพื่อคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อสัญญาการคิดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนั้น กรณีสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ส่วนหนี้สัญญาทรัสต์รีซีทที่เหลืออีก 18 ฉบับ ไม่ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารประเทศไทย จึงถือว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาทำสัญญากำหนดอัตราดอกเบี้ยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ย่อมมีผลใช้บังคับได้ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่งไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ดังวินิจฉัยมาข้างต้น แต่เมื่อปรากฏตามสำนวนว่าธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้โอนกิจการแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ มีผลให้สิทธิเรียกร้องคดีนี้อันเป็นสินทรัพย์ของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โอนไปยังธนาคารโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกับโจทก์ตกลงในเรื่องดอกเบี้ยใหม่ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารโจทก์ ในเบื้องต้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามสัญญาเดิมที่ถือตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) แต่เมื่อโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ โจทก์ก็ย่อมเรียกดอกเบี้ยไม่เกินอัตราตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งปรากฏว่าประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำลง โจทก์จึงขอเรียกดอกเบี้ยได้เท่าตามประกาศธนาคารโจทก์ อย่างไรก็ตาม เมื่อในที่สุดได้มีการโอนหนี้รายนี้แก่บริษัทสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และบริษัทดังกล่าวได้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด นับแต่มีการโอนหนี้ย่อมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ด้วย โดยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก็ต้องรับโอนสิทธิเรียกร้องมาภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทรวม 28 ฉบับ แก่โจทก์ โดยสำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับ ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในชุดเอกสารหมาย จ.41 จ.42 จ.43 จ.44 จ.45 จ.46 จ.49 จ.50 จ.51 และ จ.54 นั้น ให้ชำระต้นเงินที่เป็นผลลัพธ์จากการนำต้นเงินจำนวน 1,147,401 บาท 1,225,026 บาท 2,082,282 บาท 793,606.17 บาท 1,094,653.80 บาท 2,537,360 บาท 739,466.56 บาท 1,407,423.36 บาท และ 1,399,796.82 บาท แต่ละจำนวนตามลำดับ มาคิดหักออกด้วยจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เฉพาะที่เป็นการชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารมหานครจำกัด (มหาชน) ก่อนวันที่สัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระ ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับชำระในจำนวนเงินตามใบเสร็จรับเงินค่าดอกเบี้ยในชุดเอกสารหมาย จ.41 จ.42 จ.43 จ.44 จ.45 จ.46 จ.49 จ.50 จ.51 และ จ.54 ที่เป็นการชำระดอกเบี้ยสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับตามลำดับ เหลือต้นเงินเท่าใดให้นำมาคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ฉบับในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันก่อนวันที่มีการชำระหนี้ดอกเบี้ยหลังจากผิดนัดชำระหนี้แล้ว และให้นำเงินที่มีการชำระดอกเบี้ยหักชำระดอกเบี้ยที่คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีดังกล่าว เหลือเท่าใดให้นำไปหักชำระต้นเงินค้างชำระ เหลือต้นเงินค้างชำระสุดท้ายเท่าใดจึงเป็นต้นเงิน 10 จำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทกตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค้างชำระสุดท้ายแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่มีการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายนั้นเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ส่วนหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอีก 18 ฉบับ ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในชุดเอกสารหมาย จ.47 จ.48 จ.52 จ.53 และ จ.55 ถึง จ.68 ให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 2,268,090 บาท 7,378,510 บาท 733,382.80 บาท 3,394,549.76 บาท 4,242,000 บาท 925,197.96 บาท 2,797,052.50 บาท 1,132,972 บาท 2,287,490 บาท 1,058,572.50 บาท 10,003,816.50 บาท 1,601,949.10 บาท 1,609,573.25 บาท 1,249,190.55 บาท 1,784,764.15 บาท 1,865,229.10 บาท 2,627,345.20 บาท และ 1,554,702.75 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท 18 ฉบับ หลังนี้ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราสำหรับสินเชื่อทั่วไปสูงสุด (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) และประกาศธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ในชุดเอกสารหมาย จ.70 และที่จะประกาศต่อไปหลังวันฟ้องในแต่ละช่วงเวลาที่ประกาศแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่นับแต่วันที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัดรับโอนหนี้คดีนี้จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้นไป การคิดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และอัตราดอกเบี้ยหลังวันฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามคำฟ้องด้วย นอกจากนี้ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์จำนวน 2,150 บาท 105,823.30 บาท และ 815 บาท ตามลำดับแก่โจทก์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ให้ร่วมรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแก่โจทก์ในต้นเงินจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ในหนี้ต้นเงิน 50,000,000 บาท นี้ โดยจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยในหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดฉบับใดเท่าใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามที่ต้องร่วมกันชำระดังกล่าวให้ครบถ้วนให้บังคับยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และหากยังได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองต่อไปจนกว่าจะถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้นตามภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนต้องรับผิดดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากที่แก้ อันได้แก่เฉพาะในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.