คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่มีกำหนดระยะเวลาไม่มีการเบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชี จึงไม่มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งผู้ฝากเงินต้องนำเงินเข้าบัญชีและมีการหักทอนกันเป็นระยะเวลาอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดนับแต่ถึงกำหนดในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนสัญญาจึงจะเลิกกันไม่ ทั้งเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็ไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญาอีก เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนับแต่วันสิ้นสุดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง ข้อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือน มิฉะนั้นยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้กลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญานั้นยังไม่ถึงหนึ่งเดือนตามสัญญา เจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ ปัญหานี้แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ฎีกาแต่เป็นดอกเบี้ยที่จำเลยไม่ต้องรับผิด และกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คดีนี้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ผู้ฟ้องคดี ดอกเบี้ยค้างส่งจึงนับแต่วันก่อนฟ้องย้อนหลังไปซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพียง 5 ปีดอกเบี้ยก่อนนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพราะมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่ง แต่เมื่อเจ้าหนี้ไม่ฎีกา จึงให้ได้รับดอกเบี้ยทั้งหมดเพียง 5 ปี ตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัย.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 780,478.92 บาทจากกองทรัพย์สินของจำเลย รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสัญญาครบกำหนด (วันที่ 20 ตุลาคม 2519)เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 240,298.50 บาท แต่เจ้าหนี้ขอมา780,478.92 บาท จึงขอมาเกิน 540,180.42 บาท เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 240,298.50 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายเชิงเค้าหรือสุชาญ พึ่งวรอาสน์จำเลยในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.545/2529 ไปแล้วจำนวนเท่าใดให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้นส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน351,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละสิบต่อปี เป็นเวลา5 ปี จากกองทรัพย์สินของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีข้อ 1 กำหนดระยะเวลาของสัญญาไว้ 12 เดือน นับจากวันทำสัญญาเป็นต้นไป สัญญาดังกล่าวทำในวันที่ 20 ตุลาคม 2518 วันสิ้นสุดของสัญญาต่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519และนับแต่วันสิ้นสุดสัญญานายเชิงเค้าไม่ได้เบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีเลย จึงไม่มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันต่อไปอีก พฤติการณ์ดังกล่าวมาแสดงว่าเจ้าหนี้และนายเชิงเค้าไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป ถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาตามที่ตกลงกันกำหนดไว้ในสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนับแต่วันสิ้นสุดสัญญา สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นคงมีเพียงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 อันเป็นวันสุดท้ายแห่งบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655วรรคสอง ต่อจากนั้นไปเจ้าหนี้คงคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 5981/2533 ระหว่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดโจทก์นายอารยะ ชุมดวง จำเลย ที่เจ้าหนี้แก้ฎีกาว่า แม้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะมีกำหนดระยะเวลาไว้ และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาของสัญญามิได้ต่ออายุสัญญาก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญานายเชิงเค้ามิได้ชำระหนี้ให้หมดสิ้น และเจ้าหนี้ก็มิได้หักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือแต่อย่างใด แสดงว่าเจ้าหนี้และนายเชิงเค้ามีเจตนาให้มีบัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้กับนายเชิงเค้าจึงไม่เลิกต่อกัน เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ต่อไป และเมื่อถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 เจ้าหนี้ได้นำเงินฝากประจำของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมาหักชำระหนี้ตามสัญญา และมีหนังสือทวงถามลงวันที่ 4 มีนาคม 2523 บอกเลิกสัญญาให้นายเชิงเค้าและจำเลยชำระหนี้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกกันเมื่อวันที่ 4มีนาคม 2523 เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันดังกล่าวนั้นเห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชียอมให้นายเชิงเค้าเบิกเงินเกินจากบัญชีได้ และนายเชิงเค้าต้องนำเงินเข้าบัญชีและมีการหักทอนกันเป็นระยะเวลานั้น เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดด้วย เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาไว้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมสิ้นสุดไปตามสัญญาดังกล่าว หากจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนสัญญาจึงจะเลิกกันไม่ ทั้งเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็ไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญาอีก ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2 ระบุว่า “…ผู้เบิกเงินเกินบัญชียอมให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปในอัตรา… การชำระดอกเบี้ยนี้กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือน…”และข้อ 3 ระบุว่า “…ถ้าหากผู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดข้อตกลงไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดที่กล่าวมาในข้อ 2… ผู้เบิกเงินเกินบัญชีย่อมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับเงินเบิกเกินบัญชีดังว่ามานี้กลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชี อันผู้เบิกเงินเกินบัญชีจะต้องเสีย ดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน และมีกำหนดเวลาชำระอย่างเดียวกันกับที่ระบุไว้ในข้อ 2…” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เป็นรายเดือน ดังนั้นดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญานั้นยังไม่ถึงหนึ่งเดือนตามสัญญา เจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากนายเชิงเค้าไม่ได้ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมิได้ฎีกาแต่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ยที่จำเลยไม่ต้องรับผิด และกฏหมายล้มละลายเป็นกฏหมายพิเศษ มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม เป็นข้อกฏหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ตามการ์ดบัญชีไม่ปรากฏยอดหนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 แต่ก่อนนั้นขึ้นไปมียอดหนี้ในวันที่28 กันยายน 2519 จำนวนเงิน 400,282.80 บาท จึงถือเอายอดหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นต้นเงินในการคำนวณดอกเบี้ยต่อไปได้ โดยเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้นายเชิงเค้าและจำเลยชำระหนี้จำนวน 400,282.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละสิบต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท และอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน 200,282.80 บาท นับแต่วันที่ 29กันยายน 2519 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เมื่อได้เป็นยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินต่อไปสำหรับคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่20 กุมภาพันธ์ 2523 อันเป็นวันที่เจ้าหนี้นำเงินฝากประจำของจำเลยมาหักชำระหนี้จำนวน 273,554.41 บาท โดยให้นำเงินจำนวนดังกล่าวหักชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยก่อน เหลือจากนั้นให้หักชำระต้นเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากต้นเงินที่เหลือต่อไปอีก นับแต่วันที่ 21กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2523 อันเป็นวันที่เจ้าหนี้มีหนังสือทวงถามในอัตราขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ในอัตราร้อยละสิบต่อปีตามหนังสือทวงถาม ดอกเบี้ยดังกล่าวมานั้น สำหรับคดีนี้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ผู้ฟ้องคดี ดอกเบี้ยค้างส่งจึงนับแต่วันก่อนฟ้องย้อนหลังไปซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพียง 5 ปี ดอกเบี้ยก่อนนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพราะมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งแต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหนี้ไม่ฎีกา จึงให้ได้รับดอกเบี้ยทั้งหมดเพียง 5 ปี ตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้โดยคำนวณจากต้นเงินจำนวน 400,282.80 บาท คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละสิบต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท และอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน200,282.80 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2519 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม2519 เมื่อได้เป็นยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินต่อไป จากนั้นคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นตามอัตราขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 แล้วให้นำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยจำนวน 273,554.41 บาท มาหักชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยก่อน เหลือจากนั้นให้หักชำระต้นเงิน ต้นเงินคงเหลือเท่าใดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่เหลือนั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ย ไม่ทบต้นอัตราร้อยละสิบต่อปีของต้นเงินดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี จากกองทรัพย์สินของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share