คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ขนส่งทำการประมาทเลินเล่อทำให้เรือโจทก์จมลงได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1ให้การปฏิเสธความรับผิดว่าเหตุที่เรือจมเพราะเหตุสุดวิสัย อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำให้การจึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคแรก จำเลยที่ 1 มี อ.และส. เป็นพยานเบิกความถึงกรณีเรือจมลงว่าเกิดเพราะคลื่นลมแรงจัดเท่านั้น มิได้มีข้อเท็จจริงให้เห็นว่าที่ว่าคลื่นลมแรงจัดนั้นเป็นคลื่นลมแรงที่ไม่อาจคาดหมายได้จากบุคคลที่ประสบเหตุ และไม่มีใครป้องกันได้อันจะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 8 ส่วนที่จำเลยที่ 2นำสืบก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวอ้าง กลับได้ความตามคำ ของ ช. พยานโจทก์ว่ากรณีที่มีมรสุม นั้นจะมีประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งให้ชาวประมงทราบเพื่อมิให้นำเรือออกทะเลในช่วงที่จำเลยที่ 1 ลากจูงเรือนั้นเป็นระยะที่ไม่มีมรสุม และถึงแม้มีก็ไม่แรง อันแสดงให้เห็นว่า ในระหว่างที่มีการลากจูงเรือนั้น ไม่มีสภาพทางธรรมชาติที่จะให้ผลพิบัติโดยไม่มีใครอาจป้องกันได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าความเสียหายของเรือนั้นเกิดเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยทั้งสองพ้นความรับผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำการลากจูงเรือเจ้าท่าข.3 และเจ้าท่า 21 พร้อมอุปกรณ์การขุด จากร่องน้ำดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังร่องน้ำชุมพร จังหวัดชุมพร รวมเป็นเงิน 325,000บาท โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องมีประกันภัยทางทะเล ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยทางทะเลไว้กับจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 8,000,000 บาท โดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ทำการลากจูงเรือเจ้าท่า ข.3และเจ้าท่า 21 พร้อมอุปกรณ์การขุดถึงบริเวณเกาะพระรวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรือเจ้าท่า ข.3 ได้เกิดอุบัติเหตุจมลงได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 7,734,907 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,734,907 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สาเหตุที่เรือเจ้าท่า ข.3 เกิดอุบัติเหตุจมลงนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ซึ่งควบคุมเรือเจ้าท่า ข.3 ประกอบกับขณะนั้นเกิดเหตุสุดวิสัยมีพายุและคลื่นลมแรง ทั้งที่จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการลากจูงเรือเจ้าท่า ข.3 แล้ว ความเสียหายดังกล่าวจึงอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 โจทก์เสียหายไม่เกิน 3,733,000 บาทจำเลยที่ 2 เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพื่อวินาศภัยตามฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ทำการลากจูงเรือเจ้าท่า ข.3พร้อมอุปกรณ์การขุดด้วยตนเอง และจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนผู้ลากจูงเรือเจ้าท่าได้กระทำโดยประมาทอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ได้มอบให้บริษัทสยามยูนิเวอร์แซล แอ๊สโซซิเอท จำกัด ทำการกู้เรือพร้อมอุปกรณ์ที่จมขึ้นมาได้ทั้งหมด โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เรือและอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเสียหายบางส่วนคิดเป็นเงิน 3,733,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน7,734,907 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,452,907 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้พิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบมาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบว่า เรือเจ้าท่า ข.3 จมลงในขณะที่ถูกลากจูงไปในทะเลโดยความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างลากจูง จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธความรับผิดว่า เหตุที่เรือเจ้าท่า ข.3 จมเพราะเหตุสุดวิสัย อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตนพ้นความรับผิด ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำให้การจึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84วรรคแรก พยานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้คงมีนายเอกชัย วงศ์พรหมินทร์ และนายสุพัฒน์ ลิ้มจินดาพร พยานทั้งสองคนนี้เบิกความถึงกรณีของเรือเจ้าท่า ข.3 จมลงว่า เกิดเพราะคลื่นลมแรงจัดเท่านั้น มิได้มีข้อเท็จจริงให้เห็นว่า ที่ว่าคลื่นลมแรงที่ไม่อาจคาดหมายได้จากบุคคลที่ประสบเหตุและไม่มีใครอาจป้องกันได้อันจะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ยิ่งกว่านั้นพยานจำเลยที่ 1ทั้งสองคนก็มิใช่ผู้ที่ร่วมไปด้วยในการลากจูงเรือเจ้าท่า ข.3 ขณะเกิดเหตุ เพียงแต่เบิกความถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ตามที่รับรายงานเท่านั้น ส่วนพยานของจำเลยที่ 2 ที่นำสืบมาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามคำให้การ กลับได้ความตามคำของนายนคร ชุ่มศรีพันธ์ พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สำรวบความเสียหายของเรือเจ้าท่า ข.3 ว่า เรือนี้อาจจมเพราะว่าผู้ทำการลากจูงไม่ได้ปิดช่องคนลอด (คนขึ้นลง) ข้อสันนิษฐานนี้เป็นสาเหตุอันเดียว เพราะไม่มีเหตุอื่นที่จะทำให้เรือจมลมได้ ตามคำเบิกความของนายนครดังกล่าวแสดงว่า เรือเจ้าท่า ข.3 จมลงเพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างลากจูง นอกจากนั้นยังได้ความตามคำของเรือเอกชิด อ่องสุวรรณพยานโจทก์ว่า กรณีที่มีมรสุมนั้นจะมีประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งให้ชาวประมงทราบเพื่อไม่ให้นำเรือออกทะเลในช่วงทีี่มีการลากจูงเรือเจ้าท่า ข.3 นั้นเป็นระยะที่ไม่มีมรสุมและถึงแม้มีก็ไม่แรง อันแสดงให้เห็นว่า ในระหว่างที่มีการลากจูงเรือเจ้าท่า ข.3 นั้น ไม่มีสภาพทางธรรมชาติที่จะให้ผลพิบัติโดยไม่มีใครอาจป้องกันได้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าความเสียหายของเรือเจ้าท่า ข.3 นั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยจะทำให้จำเลยทั้งสองพ้นความรับผิด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share