คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตามเมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัย ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวไม่เข้มงวด เป็นเวลา 120 วัน หลังจากนั้นให้เข้ารับการฟื้นฟูในโปรแกรมเป็นเวลา 2 เดือน รายงานตัวเดือนละ 2 ครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิดและยินยอมให้มีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัว หลังจากจำเลยผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จากสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนแล้วจำเลยไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดไว้จนครบหกเดือน นับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งมิใช่เพียงรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดหรือไม่ และตรวจปัสสาวะของจำเลยเพื่อหาสารเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 เพื่อที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยเป็นที่พอใจหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 560/2556 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นยกคำขอนับโทษต่อ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปทุมธานีชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัว ผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสม ตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีอำนาจพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปทุมธานี มีคำวินิจฉัยที่ 1016/2554 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว ไม่เข้มงวด ณ สถาบันธัญญารักษ์ เป็นเวลา 120 วัน หลังจากนั้นให้เข้ารับการฟื้นฟูในโปรแกรมคุมประพฤติ เป็นเวลา 2 เดือน รายงานตัวเดือนละ 2 ครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และยินยอมให้มีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัว หลังจากจำเลยผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว จำเลยไม่มารายงานตัว พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีหนังสือเตือนไปยังจำเลย แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ตามรายละเอียดในคำสั่งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปทุมธานี ที่ 1642/2555 จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปทุมธานีกำหนดไว้จนครบกำหนดหกเดือนนับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมิใช่เพียงรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดหรือไม่ และตรวจปัสสาวะของจำเลยเพื่อหาสารเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เพื่อที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับใช้เสพเมทแอมเฟตามีนของกลางที่โจทก์ขอให้มีคำสั่งริบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่ออุปกรณ์สำหรับใช้เสพเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นเครื่องมือและเครื่องใช้ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงให้ริบเสียตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบอุปกรณ์สำหรับใช้เสพเมทแอมเฟตามีนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share