คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรายของจำเลยที่ถูกโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ จึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ผู้รับโอน เมื่อผู้รับโอนได้มอบอำนาจให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ถือได้ว่าเป็นการมอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าว การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. จึงเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็น ลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. จึงมีสิทธิยื่นคำร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๘๔๓,๑๓๑.๙๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๓.๗๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๗๙,๕๓๐.๙๕ บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๓๓๕.๗๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ โจทก์ได้ทำสัญญาโอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยโจทก์ได้โอนจำหน่ายลูกหนี้หรือสินทรัพย์ ด้อยคุณภาพให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งในจำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดดังกล่าวมีจำเลยรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงขอเข้าสวมสิทธิ เป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีนี้เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗ และในการดำเนินคดีนี้ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ศาลชั้นต้น อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน ๕๗๙,๕๓๐.๙๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องและในอัตราร้อยละ ๑๓.๗๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นและให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ย ประกันภัยแก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๓๓๕.๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๓๓๕.๗๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินดังกล่าวเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๕๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างโจทก์กับผู้ร้องตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งในจำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวมีรายของจำเลยซึ่งถูกฟ้อง บังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลรวมอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นการซื้อขายคดีความขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม อันดีของประชาชนเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์ ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นพระราชกำหนดที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ให้อำนาจ พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัย ของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ โดย จะกระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวว่า มีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น และต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการอนุมัติพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นประกาศตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติอนุมัติ พระราชกำหนดดังกล่าวนั้นแล้ว และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖ ก็บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ จึงถือได้ว่าพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับในกรณีปกติธรรมดาทั่วไป การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรายของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา ๗ แห่งพระราชกำหนด ดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และการโอนสิทธิเรียกร้องในรายของจำเลยนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนก็ได้มอบอำนาจให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องจึงเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗ คำสั่งศาลชั้นต้น ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นนี้ให้.
(สุภิญโญ ชยารักษ์ – วิชา มหาคุณ – ประทีป ปิติสันต์)

Share