คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างซึ่งโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการได้มอบรถยนต์ให้โจทก์ใช้โดยให้โจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตลอดจนทำการซ่อมแซมด้วยหากรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องซ่อมแซม โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าวที่จะเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวกับจำเลยได้ เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งยกเว้นความรับผิดของจำเลยข้อหนึ่งมีว่าการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุดังนั้นเมื่อผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทจากกรมการขนส่งทางบกจึงมิใช่บุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับยกเว้นความรับผิดไม่จำเลยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุที่มิได้ระบุเป็นเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยว่ารถยนต์คันเกิดเหตุจดทะเบียนไว้ต่อกรมตำรวจ ผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจจึงจะได้รับความคุ้มครองหาได้ไม่ จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ยังไม่แน่นอนและเกินกว่าความเป็นจริง หาได้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอเพราะเหตุโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าซ่อมแก่โจทก์ดังที่จำเลยอ้างในชั้นฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน7ง-8913 กรุงเทพมหานคร และได้เอาประกันภัยรถดังกล่าวไว้กับจำเลย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2528 ระหว่างที่ นายเพิ่มศักดิ์ขับขี่รถคันดังกล่าวอยู่ มีรถยนต์บรรทุกสิบล้อแซงรถยนต์คันที่อยู่ข้างหน้าสวนทางมาด้วยความเร็วสูง ในภาวะคับขันเช่นนั้นนายเพิ่มศักดิ์ ได้หักหลบ ทำให้รถพลัดตกลงไปข้างถนน รถได้รับความเสียหาย และทำให้ต้นไม้ประดับของเขตลาดกระบังที่ปลูกไว้เสียหายเป็นเงิน 2,000 บาท ซึ่งพนักงานฝ่ายประกันภัยของจำเลยได้ขอให้โจทก์ชำระแทนไปก่อนแล้วจะเบิกจากจำเลยให้ภายหลัง จากนั้นพนักงานฝ่ายประกันภัยของจำเลยกับเจ้าของอู่รวมกิจการช่างนำรถไปซ่อมที่อู่รวมกิจการช่าง ซ่อมรถเสร็จเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2528โจทก์ไปขอรับรถแต่เจ้าของอู่ไม่ยอมให้ อ้างว่าพนักงานฝ่ายประกันภัยของจำเลยสั่งไม่ให้มอบรถแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าซ่อมรถโจทก์จำนวน 103,899 บาท ให้แก่เจ้าของอู่ที่นำไปซ่อมไว้และไม่ยอมชำระเงินค่าต้นไม้ประดับที่โจทก์ชำระแทนไปเป็นการผิดสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์เสียหายต้องเช่ารถมาใช้เสียค่าเช่าวันละ 500 บาท ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 63 วัน ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าซ่อมรถจำนวน 103,899 บาท ให้แก่เจ้าของอู่รวมกิจการช่างและสั่งให้เจ้าของอู่ดังกล่าวมอบรถให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่โจทก์ใช้แทนไปจำนวน 2,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์เช่ารถบุคคลภายนอกมาใช้จำนวน 31,500 บาท และต่อไปวันละ 500 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะสั่งเจ้าของอู่รวมกิจการช่างส่งมอบรถให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใดในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ง-9913กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าซ่อมจำนวน 103,899 บาท ให้แก่เจ้าของอู่รวมกิจการช่าง หรือสั่งให้อู่รวมกิจการช่างมอบรถพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับเจ้าของอู่ดังกล่าวอู่รวมกิจการช่างกับจำเลยหาได้มีนิติสัมพันธ์ในอันที่จะต้องปฏิบัติหรือสั่งการหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนซึ่งกันและกันไม่ส่วนค่าซ่อม ลูกค้าก็จะต้องเป็นผู้ชดใช้ให้แก่อู่ไปก่อนเสมอแล้วจึงมาใช้สิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยภายหลัง หาได้มีกฎหมายหรือเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยระบุให้จำเลยเป็นผู้จ่ายไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากไม่สามารถนำรถมาใช้ตามฟ้องได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ละเลยไม่ชำระเงินค่าซ่อมและนำรถออกมาใช้เอง เหตุเกิดขึ้นจากความประมาทของนายเพิ่มศักดิ์ ประกอบกับขณะเกิดเหตุนายเพิ่มศักดิ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ขับขี่รถพิพาทได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นหากมีจริงไม่เกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 105,899 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 2,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันไว้กับจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดท.ธนารัฐ 1971 โจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของห้างนี้ ทางห้างจึงมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ไว้โดยให้โจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตลอดจนทำการซ่อมแซมด้วย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ธนารัฐ 1971 ได้มอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ใช้สอยและรับผิดชอบ หากรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องซ่อมแซม ดังนั้นโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ ดังนี้ โจทก์จึงอยู่ในฐานะที่จะเอาประกันภัยรถยนต์คันนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่าการที่นายเพิ่มศักดิ์ มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทของกรมการขนส่งทางบก แต่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.13.6 และข้อ 3.9.2 หรือไม่ เห็นว่าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ระบุไว้ในข้อ 2.13.6 และข้อ 3.9.2ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันว่า “การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเพิ่มศักดิ์ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทจากกรมการขนส่งทางบก ตามเอกสารหมาย ล.4 ดังนั้น นายเพิ่มศักดิ์จึงมิใช่เป็นบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆอันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ที่จำเลยฎีกาว่ารถยนต์คันเกิดเหตุจดทะเบียนไว้ต่อกรมตำรวจ ผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจจึงจะได้รับความคุ้มครองนั้นเห็นว่าตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวข้างต้นหาได้ระบุไว้เช่นนั้นไม่
จำเลยฎีกาข้อที่สามว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์นั้น เป็นการพิจารณาเกินคำขอ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์พิเคราะห์แล้วจำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาเกินคำขอว่า “ส่วนค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้ขับขี่รถฝ่ายโจทก์ในครั้งนี้ก็เห็นมีแต่ค่าต้นไม้ที่โจทก์จ่ายไปแล้วจำนวน 2,000 บาท ส่วนค่าซ่อมรถคันพิพาทโจทก์รับว่ายังมิได้จ่ายให้แก่อู่ไป ยอดที่แท้จริงจะเป็นเท่าไรก็ยังรับฟังไม่ได้เป็นยุติ เพราะยังมีการเจรจาต่อรองค่าซ่อมกัน ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยวินิจฉัยให้จำเลยต้องชำระเงินค่าซ่อมจำนวน103,899 บาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอของโจทก์ที่ระบุมาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยขอยืนยันว่าค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทนี้ไม่ถึง 103,899 บาท “ซึ่งเห็นได้ว่าที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอก็เพราะเหตุที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ยังไม่แน่นอนและเกินกว่าความเป็นจริง หาได้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอเพราะเหตุโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าซ่อมแก่โจทก์ ดังที่จำเลยอ้างในชั้นฎีกาไม่ ดังนั้นฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share