คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเรือซึ่งบรรทุกสินค้าพิพาทมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัทจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือและสินค้าพิพาทให้ผู้ซื้อสินค้าทราบ ยื่นคำร้องต่อการท่าเรือฯ ขออนุมัตินำเรือเข้าจอดเทียบท่า ยื่นแสดงรายการสินค้าเพื่อขออนุมัตินำสินค้าพิพาทไปเก็บในคลังสินค้า ว่าจ้างการท่าเรือฯ ให้ยกตู้สินค้าขึ้นจากเรือนำไปวางที่ลานพักตู้สินค้าขออนุญาตกรมศุลกากรเปิดตู้สินค้า ตรวจนับและจดรายการสินค้าเพื่อป้องกันการลักสินค้าและส่งมอบรายการสินค้าดังกล่าวให้แก่การท่าเรือฯเพื่อเป็นหลักฐานในการรับมอบสินค้า จ้าง การท่าเรือฯ นำสินค้าขึ้นรถบรรทุกไปเก็บไว้ที่คลังสินค้า มอบใบรับสินค้าแก่ผู้ซื้อสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อกรมศุลกากรในการดำเนินพิธีการศุลกากรและใช้แสดงต่อการท่าเรือฯ เพื่อรับสินค้าซึ่งหากไม่มีใบรับสินค้าก็ไม่สามารถจะไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือฯ ได้ ดังนี้ การดำเนินการของจำเลยดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่ง เพราะหากปราศจากการดำเนินการดังกล่าวสินค้าพิพาทย่อมไม่อาจถึงมือของผู้ซื้อสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับผู้ขนส่ง อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนของทางทะเลโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล.
แม้ปรากฏว่าผู้ขายสินค้าพิพาทจะมีสัญชาติญี่ปุ่นและส่งสินค้าพิพาทจากประเทศญี่ปุ่น โดยว่าจ้างสายการเดินเรือ อ. ซึ่งมีสัญชาติฮ่องกงเป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย แต่การขายสินค้ารายนี้เป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย การขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายมายังประเทศไทยก็กระทำโดยบริษัทจำเลยซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย เมื่อสินค้าเกิดสูญหายขึ้นในประเทศไทย และบริษัทรับประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อแล้วรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับตามกฎหมายไทย หามีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 ให้ใช้กฎหมายใดบังคับไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการรับประกันภัย จำเลยเป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์รับจ้างขนส่งทางทะเล ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ได้สั่งสินค้าเครื่องอะไหล่จากบริษัทเซ็นทรัล ออโตโมทีฟโปรดักส์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 6,042 ชุด บรรจุในหีบรวม16 หีบ ผู้ขายได้จัดส่งสินค้าโดยว่าจ้างสายการเดินเรือโอเรียนท์โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ เป็นผู้ขนส่งสินค้า แต่สายการเดินเรือดังกล่าวไม่มีสาขาในประเทศไทย จึงมอบให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าร่วมอีกทอดหนึ่ง จำเลยตกลงเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย ในการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าไว้กับโจทก์ในวงเงิน 1,389,896.40 บาทเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย พบว่าหีบบรรจุสินค้าหลายหีบแตกและสูญหายเครื่องอะไหล่หายไป 3,454 ชุด เป็นเงิน 805,777.94 บาท จำเลยไม่ชำระค่าเสียหายดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์จึงเรียกร้องให้โจทก์ชำระตามสัญญาประกันภัย โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ไปแล้ว จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากสายการเดินเรือโอเรียนท์ฯ และจำเลย โจทก์ทวงถามจำเลยแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 805,777.94บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการค้าเป็นตัวแทนของสายการเดินเรือท่านั้นมิได้ประกอบการขนส่ง บริษัทสายการเดินเรือโอเรียนท์ฯ รับจ้างขนส่งสินค้ารายนี้มาส่งเพียงท่าเรือประเทศฮ่องกงต่อจากนั้นเรือ “ไทยทับทิม” ของบริษัทสายการเดินเรืออื่นเป็นผู้รับขนส่งช่วงจากฮ่องกงมายังท่าเรือกรุงเทพฯ สินค้าพิพาทมิได้ถูกโจรกรรมในระหว่างการขนส่ง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ โจทก์จึงมิใช่ผู้รับช่วงสิทธิของห้างฯ ผู้ส่งและผู้รับขนส่งมีสัญชาติต่างกันไม่ทราบเจตนาว่าจะใช้กฎหมายประเทศใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ. 2481 บังคับให้ใช้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่นที่ทำสัญญารับขนส่งทางทะเลนั้น กฎหมายดังกล่าวคือพระราชบัญญัติการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ค.ศ. 1957 ที่กำหนดให้ผู้รับขนส่งรับผิดความสูญหายของสินค้าที่ขนส่งไม่เกิน 100,000 เยนต่อ 1 หีบห่อ จึงเป็นความรับผิดในคดีนี้ 1,000,000 เยน หรือ เท่ากับ 90,000 บาท ซึ่งหากจำเลยจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ขนส่ง ก็คงมีความรับผิดเพียง 90,000 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 805,777.94 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของนายไพโรจน์ ปรุงวนิชย์ศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทจำเลยนายสมศักดิ์ ไกรพันธ์ พนักงานบริษัทจำเลย และนายสมพันธ์ บุญยประเวศพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พยานจำเลยว่า ตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 สายเดินเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าพิพาทไปยังท่าเรือกรุงเทพมหานคร เปิดตู้สินค้าและนำสินค้าไปเก็บยังคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อเรือไทยทับทิมซึ่งบรรทุกสินค้าพิพาทมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัทจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือไทยทับทิมและสินค้าพิพาทให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ผู้ซื้อสินค้าทราบ ยื่นคำร้องต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขออนุมัตินำเรือไทยทับทิมเข้าจอดเทียบท่าตามเอกสารหมาย จ.11 ยื่นแสดงรายการสินค้าเพื่อขออนุมัตินำสินค้าพิพาทไปเก็บในคลังสินค้า ว่าจ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ยกตู้สินค้าขึ้นจากเรือนำไปวางที่ลานพักตู้สินค้า ขออนุญาตกรมศุลกากรเปิดตู้สินค้า ตรวจนับและจดรายการสินค้าเพื่อป้องกันการลักสินค้าและส่งมอบรายการสินค้าดังกล่าวให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นหลักฐานในการรับมอบสินค้า จ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยนำสินค้าขึ้นรถบรรทุกไปเก็บไว้ที่คลังสินค้ามอบใบรับสินค้าแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ เพื่อใช้แสดงต่อกรมศุลกากรในการดำเนินพิธีการศุลกากรและใช้แสดงต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรับสินค้าซึ่งหากไม่มีใบรับสินค้านี้ก็ไม่สามารถจะไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เห็นว่าการดำเนินการของจำเลยดังได้ความมาเป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่ง เพราะหากปราศจากการดำเนินการดังกล่าว สินค้าพิพาทย่อมไม่อาจถึงมือผู้ซื้อสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับสายเดินเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนของทางทะเล โดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า สินค้าตามฟ้องเกิดความเสียหายและสูญหายในระหว่างขนส่งหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สินค้าพิพาทอาจถูกบรรจุมาไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ได้สูญหายในระหว่างการขนส่ง… ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสินค้าพิพาทสูญหายของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.12 ว่า สินค้ารายนี้ได้นำเข้ามาในประเทศแล้ว แต่มาเกิดการสูญหายในช่วงเปิดตู้สินค้าและนำของเข้าเก็บในคลังสินค้า ดังนั้นเมื่อบริษัทจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายและมีหน้าที่นำสินค้าไปเก็บยังคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 การวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายในคดีนี้ จะต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศที่คู่สัญญาตกลงกันไว้หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับขนส่งสินค้าทางทะเล ค.ศ. 1957ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาได้ทำขึ้นบังคับเห็นว่า แม้ปรากฏว่าบริษัทเซ็นทรัล ออโตโมทีพ โปรดักส์ จำกัดผู้ขายจะมีสัญชาติญี่ปุ่น และส่งสินค้าพิพาทจากประเทศญี่ปุ่น โดยว่าจ้างสายเดินเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ ซึ่งมีสัญชาติฮ่องกงเป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย แต่การขายสินค้ารายนี้เป็นการขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ผู้ซื้อในประเทศไทยการขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายมายังประเทศไทยก็กระทำโดยบริษัทจำเลยซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย เมื่อสินค้าเกิดสูญหายขึ้นในประเทศไทย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อแล้วรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องบังคับตามกฎหมายไทยหามีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2483 มาตรา 13ให้ใช้กฎหมายใดบังคับตามฎีกาของจำเลยไม่ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share