คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมไว้จึงเป็นข้อที่จำเลยที่2ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจำเลยที่2จึงไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นมาว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้รวมถึงจำเลยที่2ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่2ฎีกาของจำเลยที่2ในประเด็นนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งถึงแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่2ในข้อนี้ไว้ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาคือจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาขายลดเช็คและกู้เงินอันเป็นมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้สัญญาค้ำประกันและจำนองและคำขอบังคับคือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นคือหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้หนังสือสัญญาค้ำประกันและหนังสือสัญญาจำนองส่วนการขายลดเช็คกี่ครั้งกู้เงินกี่ครั้งครั้งละเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดของมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่ผ. และน. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบริษัทโจทก์จึงเป็นการกระทำของบริษัทโจทก์แม้ต่อมาผ. และน. จะพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโจทก์หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ได้ทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้นก็ยังคงมีผลสมบูรณ์อยู่หาระงับไปไม่ หนังสือมอบอำนาจระบุว่ามอบอำนาจให้ป. หรืออ.คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์อีกคนหนึ่งรวมเป็น2คนพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์สามารถกระทำการเกี่ยวกับกิจการต่างๆของโจทก์ตามที่ระบุไว้รวมทั้งการแต่งตั้งตัวแทนช่างเช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวมีอำนาจกระทำการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทมากกว่าครั้งเดียวได้ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์30บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ7(2)แห่งประมวลรัษฎากรส่วนที่หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกำหนดให้มีกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอีกคนหนึ่งร่วมลงลายมือชื่อด้วยนั้นก็เป็นเพียงการกำหนดวิธีการที่ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวนั้นต้องปฏิบัติในการกระทำเกี่ยวกับกิจการของบริษัทโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจดังนี้การปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเช่นว่านี้จำนวน30บาทจึงชอบแล้วหาใช่การมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างกระทำกิจการแยกกันอันจะต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ30บาทไม่ สัญญาตกลงชำระหนี้ระบุว่าตามที่จำเลยที่2บริษัทธ.และท. ได้ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยการนำเช็คที่จำเลยที่1เป็นผู้สั่งจ่ายขายลดไว้แก่โจทก์และยังมีหนี้ที่ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์3จำนวนเป็นเงิน45,920,000บาทนั้นจำเลยที่1ตกลงชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวและยังค้างชำระเป็นเงิน10,516,643.83บาทรวมทั้งสองจำนวนเป็นเงิน56,436,643.83บาทให้แก่โจทก์จนครบถ้วนภายในกำหนด15ปีทั้งนี้จำเลยที่1ตกลงผ่อนชำระหนี้ในจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ100,000บาทหากจำเลยที่1ผิดนัดในเดือนใดและยังฝ่าฝืนไม่ชำระในเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระโดยกำหนดเวลาอันสมควรไว้ให้โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีในระหว่างการผ่อนชำระหากโจทก์มอบให้บุคคลใดเข้าตรวจสอบกิจการของจำเลยที่1จำเลยที่1ตกลงที่จะให้ความสะดวกและร่วมมือกับบุคคลดังกล่าวทุกประการนั้นมีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่1กับโจทก์ถือได้ว่าเป็นสัญญา2ฝ่ายหาใช่จำเลยที่1ตกลงฝ่ายเดียวไม่และข้อความในสัญญาดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่1ลูกหนี้คนใหม่ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจจำเลยที่2บริษัทธ. และท. ผู้เป็นลูกหนี้เดิมทั้งสามรายการแต่อย่างใดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ฉบับนี้จึงมีผลบังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1นอกจากนี้สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา350ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จึงหาจำต้องให้เจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไม่และบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องแจ้งการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ใหม่ให้ลูกหนี้เดิมทั้งสามรายทราบไม่โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่1ชำระหนี้ตามสัญญาแปลงหนี้ใหม่นี้ได้ เมื่อคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ลงในเช็คถึงวันที่นำดอกเบี้ยนั้นมารับสภาพหนี้แล้วดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวยังค้างส่งไม่เกิน5ปีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างส่งยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา166เดิมหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมนำมารับสภาพหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน112,422,643.30 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงิน 63,436,643.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า ตามคำฟ้องข้อ 7 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเช็คมาขายลดและกู้เงินแบบทั่วไปกับโจทก์กี่ครั้ง แต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนเท่าใดและเมื่อใดบ้าง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีต่อโจทก์จริง และจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1จริง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ในการขายลดเช็คและกู้ยืมประมาณ 20,000,000 บาท เท่านั้น เหตุที่จำนวนหนี้สูงเกินความเป็นจริง เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ทั้งคิดดอกเบี้ยทบต้นและนำเอาหนี้ของบุคคลอื่นมารวมเข้าไปด้วยหนังสือรับสภาพหนี้และการค้ำประกันตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีผลผูกพัน เพราะผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ฝ่ายโจทก์ไม่มีอำนาจ ตราที่ประทับก็ไม่ใช่ตราที่จดทะเบียนไว้ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยเอาหนี้ของผู้อื่นมารวมเข้าด้วย จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1หากฟังว่าหนังสือรับสภาพหนี้ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3การรับสภาพหนี้ในส่วนดอกเบี้ยก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพราะเกิน 5 ปีแล้ว สิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยทั้งสามก็เกิน5 ปีแล้ว ไม่อาจจะเรียกได้ การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาสืบพยานโจทก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนของโจทก์และแต่งตั้งนายทรงเดช ประดิษฐ์สมานนท์ เป็นผู้ชำระบัญชี ต่อมาระหว่างพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสาม ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด และศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน80,968,954.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน63,436,643.83 บาท ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่14 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2532 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่25 พฤศจิกายน 2533 อัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่26 พฤศจิกายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักเงินจำนวน700,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนออกทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 31,453,688.47 บาท ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1840ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 24572,24573, 24618, 24619, 24620, 24623, 24624, 24625,24626, 24494, 24495, 24498, 24499, 24500, 24501, 24614,24615, 24616, 24617, และ 24142 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ สำหรับประเด็นข้อนี้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดี จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้รวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งถึงแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ไว้ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
คงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 3 เท่านั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 7 ถัดจากข้อความที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดต่อไปว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงใช้หนี้แก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหา คือจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาขายลดเช็คและกู้เงินอันเป็นมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ สัญญาค้ำประกันและจำนอง และคำขอบังคับคือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นคือ หนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้หนังสือสัญญาค้ำประกัน และหนังสือสัญญาจำนอง ส่วนการขายลดเช็คกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดของมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อ 2 ว่าการมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้สมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า การที่นางผาสุขนิตย์และนายนาวีลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 28 กันยายน2533 เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบริษัทโจทก์ จึงเป็นการกระทำของบริษัทโจทก์ แม้ต่อมานายผาสุขนิตย์และนายนาวีจะพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโจทก์หนังสือมอบอำนาจฉบับที่ได้ทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้นก็ยังคงมีผลสมบูรณ์อยู่ หาระงับไปไม่ นายปองธรรมจึงร่วมกับนายนาวีมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้นางสาววิไลรัตน์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2529ระหว่างนางอรุณี เจริญเผ่า โจทก์ บริษัทลัคกี้เทคซ์ (ประเทศไทย)จำกัด จำเลย
ส่วนเรื่องที่จำเลยทั้งสามฎีกาเกี่ยวกับการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุว่า มอบอำนาจให้นายปองธรรมหรือนางอารมณ์คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์อีกคนหนึ่งรวมเป็น 2 คนพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์สามารถกระทำการเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆของโจทก์ตามที่ระบุไว้รวมทั้งการแต่งตั้งตัวแทนช่วง เช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวมีอำนาจกระทำการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทมากกว่าครั้งเดียวได้ ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(2) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนที่หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกำหนดให้มีกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอีกคนหนึ่งร่วมลงลายมือชื่อด้วยนั้นก็เป็นเพียงการกำหนดวิธีการที่ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวนั้นต้องปฏิบัติในการกระทำการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจ ดังนี้การปิดอากรแสตมป์ในเอกสารหมาย จ.6 จำนวน 30 บาท จึงชอบแล้วหาใช่การมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างกระทำกิจการแยกกันอันจะต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ30 บาท ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 จึงสมบูรณ์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อ 3 ที่ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่ามาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า”แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่”ซึ่งสัญญาตกลงชำระหนี้เอกสารหมาย จ.16 ระบุว่า “ตามที่บริษัทโรงแรมเชียงคำ จำกัด (จำเลยที่ 2) บริษัทธนาวรรณ จำกัดและนายทรงวุฒิ วิริยาภรณ์ ได้ขอสินเชื่อจากบริษัทเงินทุนพานิชจำกัด (โจทก์) โดยการนำเช็คที่นายธนิต ธนทิตย์ (จำเลยที่ 1)เป็นผู้สั่งจ่ายขายลดไว้แก่โจทก์ และยังมีหนี้ที่ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 3 จำนวน เป็นเงิน 45,920,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1ตกลงชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินดังกล่าว และยังค้างชำระเป็นเงิน 10,516,643.83 บาท รวมทั้งสองจำนวนเป็นเงิน 56,436,643.83บาท ให้แก่โจทก์จนครบถ้วนภายในกำหนด 15 ปี ทั้งนี้จำเลยที่ 1ตกลงผ่อนชำระหนี้ในจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100,000 บาทหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดในเดือนใดและยังฝ่าฝืนไม่ชำระในเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระโดยกำหนดเวลาอันสมควรไว้ ให้โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ในระหว่างการผ่อนชำระหากโจทก์มอบให้บุคคลใดเข้าตรวจสอบกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ตกลงที่จะให้ความสะดวกและร่วมมือกับบุคคลดังกล่าวทุกประการ”เห็นได้ว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.16 มีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ถือได้ว่าเป็นสัญญา 2 ฝ่าย หาใช่จำเลยที่ 1ตกลงฝ่ายเดียว และข้อความในสัญญาดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้คนใหม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจ จำเลยที่ 2 บริษัทธนาวรรณ จำกัด และนายทรงวุฒิผู้เป็นลูกหนี้เดิมทั้งสามรายแต่อย่างใดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.16 จึงมีผลบังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ มาตรา 350 ดังกล่าว ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จึงหาจำต้องให้เจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไม่และบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องแจ้งการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ใหม่ให้ลูกหนี้เดิมทั้งสามรายการทราบดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.16 ได้
ส่วนหนี้ตามเอกสารหมาย จ.25 ข้อ 1.2 เป็นการที่จำเลยที่ 1รับสภาพหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,556,876 บาท ที่ค้างชำระอยู่ตามหนังสือสัญญากู้เงินลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 เอกสารหมายจ.17 ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์ และหนี้ตามเอกสารหมาย จ.25ข้อ 1.3 เป็นการที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินลงวันที่ 14 มีนาคม 2531 จำนวน 1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้เงินกู้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวด้วย ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามเอกสารหมาย จ.25 ข้อ 1.1เป็นดอกเบี้ยค้างชำระมาจากการขายลดเช็คตั้งแต่ปี 2522 ถึงปี 2526ซึ่งเกินกำหนดเวลา 5 ปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสาม ข้อนี้ตามสัญญาตกลงชำระหนี้เอกสารหมาย จ.16ระบุไว้เพียงว่า ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2528 เป็นเงินจำนวน 10,516,643.83 บาท ไม่ได้ระบุว่าคิดตั้งแต่เมื่อใด เกี่ยวกับเรื่องนี้นายนาวี รัตนาภรณ์ ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า ในกรณีเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ ลูกค้าจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.32 นางวีณาธนภัตนันท์ ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า หากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ลงในเช็คตามสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.32 ข้อ 5 มีข้อความว่า ในกรณีบริษัทไม่ได้รับเงินตามเช็คซึ่งถึงกำหนดชำระไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด ลูกค้าขอรับผิดยินยอมชดใช้เงินเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี วันที่เช็คถึงกำหนดชำระก็คือวันที่ลงในเช็คนั่นเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 เช็คที่จำเลยที่ 1นำมาขายลดไว้แก่โจทก์เป็นเช็คลงวันที่ระหว่างปี 2524 ถึงปี 2526ตามเอกสารหมาย จ.14 เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดไว้แก่โจทก์รวม 2 ฉบับ ลงวันที่ 7 และ 31 มีนาคม 2527 เมื่อคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ลงในเช็คดังกล่าวถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 อันเป็นวันที่นำดอกเบี้ยนั้นมารับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 แล้วดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวยังค้างส่งไม่เกิน 5 ปี สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างส่งยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 เดิม หนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมนำมารับสภาพหนี้ได้ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.16
ปัญหาต่อไปว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2531ได้อีกหรือไม่ เห็นว่า หนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 ดังกล่าวเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 45,920,000 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 10,516,643.83บาท รวมเป็นเงิน 56,436,643.83 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์จนครบถ้วนภายในกำหนด 15 ปี นับแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไป และตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1ผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวนี้ จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2528 ถึงเดือนเมษายน 2529 จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100,000 บาท และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2529เป็นต้นไปผ่อนชำระไม่ต่ำกว่าเดือนละ 600,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จครบถ้วน เมื่อนำข้อความในเอกสารหมาย จ.16 ดังกล่าวมาฟังประกอบข้อความในเอกสารหมาย จ.25 ข้อ 1.1 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1และโจทก์ได้ตกลงกันให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระจำนวน 10,516,643.83บาท มารวมเป็นต้นเงินจำนวน 56,436,643.83 บาท โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าตามสัญญารับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้เอกสารหมาย จ.25 ข้อ 3ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น ข้อนี้สัญญาข้อ 3 ดังกล่าวมีข้อความว่า “ผู้ค้ำประกัน” ตกลงร่วมกันเข้าค้ำประกันตามข้อ 1. 1.1,1.2 และ 1.3 โดยรับผิดร่วมกัน “ลูกหนี้” และ “ผู้ค้ำประกัน”ยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ “ลูกหนี้” ในการชำระหนี้ดังกล่าวได้ทุกครั้งตลอดไป รวมทั้งการให้สัตยาบันแก่การที่”เจ้าหนี้” ได้ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ “ลูกหนี้” แล้วทุกครั้ง”ผู้ค้ำประกัน” ตามสัญญาดังกล่าวหมายถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งตกลงร่วมกันเข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ต่อโจทก์มีปัญหาว่าเป็นการค้ำประกันโดยรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือไม่แม้ข้อความในสัญญาดังกล่าวจะระบุว่าเป็นการรับผิดร่วมกันไม่ใช่การค้ำประกันโดยรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่น่าจะเป็นการพิมพ์คำว่า “ร่วมกับ” ผิดพลาดเป็น “ร่วมกัน” เพราะข้อความในตอนต้นได้เขียนไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงร่วมกันค้ำประกันอยู่แล้ว จึงไม่จำต้องเขียนคำว่า “ร่วมกัน” ในตอนหลังซ้ำอีก ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบข้อความตอนต่อไปแล้วจะเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่พิมพ์ผิดพลาด เพราะการตกลงกันเรื่องการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ค้ำประกันต้องตกลงยินยอมด้วยเท่านั้น ผู้ค้ำประกันจึงจะไม่หลุดพ้นจากความรับผิด หาจำต้องให้ลูกหนี้ตกลงยินยอมด้วยไม่ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญารับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้เอกสารหมาย จ.25 ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นข้อสุดท้ายว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่านายปองธรรม รัตนาภรณ์ ไม่มีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเชษฐ์บอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์ได้นั้นเรื่องนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อ 2 แล้วว่านายปองธรรมร่วมกับนายนาวีมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งมอบอำนาจช่วงได้ เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.8ว่า นายปองธรรมและนายนาวีได้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราโจทก์มอบอำนาจให้นายเชษฐ์บอกกล่าวบังคับจำนอง นายเชษฐ์จึงมีอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามแทนโจทก์ได้การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share