คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วยวาจา ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525,456 โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยังเป็นของมารดาโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ รูปคดีมิใช่เรื่องลาภมิควรได้ตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2505 มารดาโจทก์ได้เช่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4547 ตำบลวัดท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ 352 ตารางวา เมื่อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว มารดาโจทก์ได้ให้ผู้ขายจดทะเบียนโอนใส่ชื่อนายสมิทธิ์ พฤฒิวานิชกุล บุตรชายคนโต เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนเพราะมารดาโจทก์มีสามีเป็นคนต่างด้าวถือสัญชาติจีน ก่อนถึงแก่กรรมมารดาโจทก์ได้สั่งให้นายสมิทธ์แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนนนนนดให้บุตรชาย 3 คน คนละ 100 ตารางวา และแบ่งให้โจทก์ 52 ตารางวาเดือนกรกฎาคม 2527 นายสมิทธ์ได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดให้บุคคลทั้งสามดังกล่าวคนละ 100 ตารางวา ยังเหลือแต่โจทก์ที่ยังไม่ได้รับแบ่ง เดือนสิงหาคม 2527 นายสมิทธ์ป่วยถึงแก่กรรมโดยกะทันหัน ก่อนถึงแก่กรรมนายสมิทธ์ได้สั่งจำเลยซึ่งเป็นภริยาแบ่งที่ดินให้โจทก์ 52 ตารางวา จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมิทธ์ตามคำสั่งศาลไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายสมิทธ์ จึงขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4547 ให้โจทก์ 52ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า นายสมิทธ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตามฟ้องแต่เพียงผู้เดียว มิได้ถือกรรมสิทธิ์แทนมารดาโจทก์ ก่อนถึงแก่กรรมมารดาโจทก์ไม่เคยสั่งให้นายสมิทธ์แบ่งที่ดินตามโฉนดให้บุตรชาย 3 คน และโจทก์ตามฟ้องที่นายสมิทธ์จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บุคคลทั้งสามคนละ 100 ตารางวา เพราะบุคคลทั้งสามต้องการหลักทรัพย์ไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคาร ก่อนนายสมิทธ์ถึงแก่กรรมไม่เคยสั่งให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ 52 ตารางวาโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ฟ้องโจทก์เรียกทรัพย์คืนโดยอ้างว่านายสมิทธ์ได้ที่ดินมาในฐานะลาภมิควรได้ จึงขาดอายุความ 1 ปี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4547 มีเนื้อที่ทั้งหมด 352 ตารางวา นายอารีย์ พฤฒิวานิชกุล มารดาโจทก์และนายสมิทธ์ พฤฒิวานิชกุล สามีจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อจากนางประทุมราชพินิจจัย เมื่อปี พ.ศ. 2505 นางอารีย์ ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดสุดท้ายจึงให้นายสมิทธ์ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อที่ดินและจดทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนก่อนนางอารีย์ถึงแก่กรรมนางอารีย์ได้สั่งนายสมิทธ์ให้แบ่งโฉนดที่ดินดังกล่าวให้นายสงวน พฤฒิวานิชกุลนายสมบูรณ์ พฤฒิวานิชกุล นายสวัสดิ์ พฤฒิวานิชกุล คนละ 100 ตารางวาให้โจทก์ 52 ตารางวา นายสมิทธ์ได้จัดการแบ่งและจดทะเบียนโอนให้นายสงวน นายสมบูรณ์และนายสวัสดิ์ แต่ยังไม่ทันได้โอนให้โจทก์นายสมิทธ์ถึงแก่กรรม จำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมิทธ์ตามคำสั่งศาล คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าจะบังคับจำเลยให้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำฟ้องได้หรือไม่ ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่าก่อนนางอารีย์ถึงแก่กรรม ประมาณเดือนมิถุนายน2527 นางอารีย์ได้เรียกนายสมิทธ์ไปสั่งว่าให้แบ่งและโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายสงวน นายสมบูรณ์และนายสวัสดิ์ พฤฒิวานิชกุล คนละ100 ตารางวาและให้โจทก์ 52 ตารางวา เห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบ ก็เป็นเรื่องที่นางอารีย์มารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทจำนวน 52 ตารางวา ให้โจทก์ด้วยวาจา ไม่ปรากฏว่าได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525, 456โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยังเป็นของนางอารีย์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลยในฐานะผู้รับให้ รูปคดีมิใช่เรื่องลาภมิควรได้ตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง…”
พิพากษายืน.

Share