แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ผู้คัดค้านกับจำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างกันภายหลัง จากที่ผู้คัดค้านได้รับหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว หาเป็นการเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เพราะเมื่อจำเลยถูกบังคับคดีอายัดเงินค่าเงินก็ไม่มีเงินที่จะสามารถทำงานก่อสร้างในงวดต่อไปได้ตามสัญญาอาจทำให้การก่อสร้างบ้านผู้คัดค้านล่าช้าหรือไม่เสร็จดังนั้น การที่ผู้คัดค้านเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยเพื่อไม่ให้ผู้คัดค้านต้องเสียหาย จึงเป็นสิทธิที่ผู้คัดค้านจะกระทำได้
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ฐานผิดสัญญาซื้อขาย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 162,255 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี ผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสั่งอายัดเงินไปยังผู้คัดค้านอ้างว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าก่อสร้างจากผู้คัดค้านจำนวน 182,300 บาท ให้ผู้คัดค้านส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 10 วัน ผู้คัดค้านมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าจำเลยไม่มีเงินดังกล่าวอยู่ที่ผู้คัดค้าน โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยยังคงปลูกสร้างบ้านพักอาศัยให้แก่ผู้คัดค้าน และจำเลยมีสิทธิจะได้รับเงินค่าจ้างไม่น้อยกว่า 192,300 บาท ขอให้เรียกผู้คัดค้านมาไต่สวน ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดจำเลยได้รับเงินค่าจ้างงวดที่ 3 ไปครบถ้วนแล้วส่วนค่าจ้างงวดที่ 4จำเลยไม่ได้ทำงานตามสัญญาแต่เบิกเงินไปก่อน 50,000 บาทจากนั้นจำเลยก็ไม่ทำงานต่อ นางนงลักษณ์ ริมปิกุล ภรรยาผู้คัดค้านในฐานะคู่สัญญาจ้างได้ติดต่อกับจำเลยและมีความเห็นขัดแย้งกันในการก่อสร้าง ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงเลิกสัญญากันเมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2530 เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจากผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินจำนวน 56,000 บาท ให้แก่กรมบังคับคดีตามหนังสืออายัดผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นเงิน162,255 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวแต่จำเลยมีการงานทำโดยได้ไปรับจ้างก่อสร้างบ้านให้ผู้คัดค้านและมีสิทธิได้รับเงินค่าก่อสร้างจากผู้คัดค้านเป็นงวด ๆ โดยรับมาแล้วเป็นเงิน332,000 บาท ยังขาดอยู่ 163,000 บาท ซึ่งเป็นเงินงวดที่ 4 บางส่วนกับงวดที่ 5 อันเป็นงวดสุดท้าย โจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าก่อสร้างส่วนที่ผู้คัดค้านจะต้องจ่ายให้แก่จำเลยต่อไปเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี แต่เมื่อได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้คัดค้านกับจำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกันโดยไม่เรียกค่าเสียหายซึ่งกันและกันและผู้คัดค้าน ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานบังคับคดีทราบ โดยแจ้งด้วยว่าไม่มีเงินของจำเลยอยู่ที่ผู้คัดค้านที่จะส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ คดีมีปัญหาว่าผู้คัดค้านจะต้องส่งเงินตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าว โจทก์ฎีกาว่าการที่ผู้คัดค้านกับจำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างกันเพราะเหตุผู้คัดค้านได้รับหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงสมคบคิดกับจำเลยเลิกสัญญา แล้วจ้างน้องสาวจำเลยทำการก่อสร้างแทน นำ จำเลย เพื่อหลีกเลี่ยงหนังสืออายัดของกรมบังคับคดีอันเป็นการเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโดยที่จำเลยได้ทำการก่อสร้างเกินงวดไปมาก เมื่อเลิกจ้างจำเลยแล้วผู้คัดค้านจึงต้องคิดเงินส่วนที่ก่อสร้างเกินไปให้จำเลยด้วยและจำต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวน 56,000 บาทตามคำสั่งอายัดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำเบิกความของผู้คัดค้าน ตัวจำเลยและนายนงลักษณ์ ริมปิกุลภรรยาผู้คัดค้าน ได้ความสอดคล้องต้องกันว่าหลังจากจำเลยรับเงินเต็มจำนวน 3 งวดกับเงินงวดที่ 4 ส่วนหนึ่งเป็นจำนวน 50,000 บาทรวมเป็น 332,000 บาท แล้ว จำเลยมาทำงานอีก 2-3 วัน ก็ทิ้งงานไปต้องไปตามตัวมาทำ ซึ่งก็ทำให้งานล่าช้า ต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งอายัดเงินค่าก่อสร้าง ผู้คัดค้านแจ้งจำเลยทราบ จำเลยก็บอกว่าถ้าเงินถูกอายัดแล้วจำเลยก็ไม่มีค่าวัสดุและค่าแรงที่จะทำงานต่อไปผู้คัดค้านกับจำเลยจึงตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกัน และผู้คัดค้านกับนางสาวสายใจ กิติวัฒนวิลัยกุล น้องสาวจำเลยพยานผู้คัดค้านยังเบิกความต้องกันอีกว่า เมื่อเลิกจ้างจำเลยแล้ว ผู้คัดค้านทำการก่อสร้างเอง โดยจ้างนางสาวสายใจให้มาควบคุมการก่อสร้างซื้อวัสดุ และทำบัญชีจ่ายค่าแรงคนงานเพราะนางสาวสายใจเป็นผู้ทำงานดังกล่าวอยู่แล้ว ฝ่ายโจทก์มีเพียงตัวโจทก์มาเบิกความลอย ๆ ว่าจำเลยยังคงมีการก่อสร้างบ้านให้ผู้คัดค้านโดยน้องสาวจำเลยทำงานควบคุมการก่อสร้างและควบคุมคนงานของจำเลยแทนจำเลย โดยโจทก์ไม่มีพยานอื่นมาสืบสนับสนุน เห็นว่าการที่น้องสาวจำเลยคงทำงานก่อสร้างบ้านผู้คัดค้านอยู่นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าว่าทำการแทนจำเลย เพราะปรากฏจากคำเบิกความของนายบุญพา โมสืบแสน พยานโจทก์ว่าน้องสาวจำเลยเป็นคนควบคุมงานขณะพยานขับรถนำกระเบื้องไปส่งให้ที่บ้านผู้คัดค้าน ทั้งงานก่อสร้างที่ค้างอยู่ก็เป็นงวดที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นงวดที่การก่อสร้างบ้านใกล้เสร็จแล้วมิใช่งานโครงสร้างดังภาพถ่ายหมาย จ.4 และสัญญาจ้างเอกสารหมาย ค.2จึงเป็นไปได้ว่าผู้คัดค้านจะว่าจ้างนางสาวสายใจซึ่งเป็นคนควบคุมและทราบงานก่อสร้างอยู่แล้วขณะนั้นให้ช่วยทำงานให้เสร็จโดยไม่ชักช้าทั้งเห็นว่า ข้อตกลงเลิกจ้างระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย ดังที่ผู้คัดค้านนำสืบได้ความนั้น ก็เนื่องจากจำเลยถูกบังคับคดีอายัดเงินค่าจ้างไม่มีเงินที่จะสามารถทำงานก่อสร้างในงวดต่อไปได้ตามสัญญา อาจทำให้การก่อสร้างบ้านผู้คัดค้านล่าช้า หรือไม่เสร็จ ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยเพื่อไม่ให้ผู้คัดค้านต้องเสียหายนั้นจึงเป็นสิทธิที่ผู้คัดค้านจะกระทำได้ หากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทำการก่อสร้างเกินงวดไปมาก เมื่อเลิกจ้างจำเลยแล้ว ผู้คัดค้านต้องคิดเงินส่วนที่ก่อสร้างเกินให้จำเลยด้วยนั้น ในข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่า จำเลยทำงานเกินงวดไปมากอย่างไร แม้จำเลยจะเบิกความตอบคำถามค้านว่ามีการทำงานเกินงวดที่ 4 และงวดที่ 5 ไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ความว่าเกินไปมากอย่างไรเช่นกัน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่ผู้คัดค้านและจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยงานที่จำเลยทำแล้วจะเกินงวดมาเท่าใด ไม่ได้คิดให้นั้น ก็ไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใดเพราะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่างานบางส่วนของงวดที่ 2 ที่ 3ยังไม่ได้ทำและเงินที่ได้รับจากผู้คัดค้านนั้น มีส่วนที่เบิกเกินเงินงวดรวมอยู่ด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่า เงินที่จำเลยได้รับกับงานตามงวดที่จำเลยทำนั้น ขาดเกินกันอยู่ จึงอาจตกลงหักกลบลบกันได้เมื่อจำเลยกับผู้คัดค้านเลิกสัญญากันแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้คัดค้านไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่จำเลย ผู้คัดค้านจึงไม่จำต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัด ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน