แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดย มีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็ค เมื่อผู้ต้องหาออกเช็คเป็นความผิดจำนวนเงิน 93,000 บาท จำเลยเป็นผู้ขอประกัน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินให้ผู้ประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันเพียงไม่เกินจำนวนเงิน 93,000 บาท การที่พนักงานสอบสวนกำหนดจำนวนเงินให้ผู้ประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน 200,000 บาทซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็ค เป็นการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวน จึงใช้บังคับผู้ประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือ 93,000 บาท ตามจำนวนเงินในเช็ค
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาประกันตัวนายสุรศักดิ์ เจริญวิภาสผู้ต้องหาคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ไปจากความควบคุมของโจทก์ โดย จำเลยสัญญาว่าจะส่ง ตัวผู้ต้องหาดังกล่าวให้โจทก์ตามกำหนดนัด ถ้าผิดนัดย่อมใช้เงินจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์ โดย นำโฉนดที่ดิน 1 แปลง ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน จำเลยได้ทราบกำหนดวันเวลานัดให้ส่งตัวผู้ต้องหาตามสัญญาประกันแล้ว แต่จำเลยมิได้นำผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนตามกำหนดเวลา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาประกัน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาทตามสัญญาประกัน จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 200,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16เมษายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาประกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15) จำเลยลงชื่อในสัญญาประกันโดย โจทก์มิได้กรอกวันเวลานัดให้ส่งตัวผู้ต้องหาไว้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทราบคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน30,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่16 เมษายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ 200,000 บาทตามสัญญาประกันหรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2524 จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนายสุรศักดิ์เจริญวิภาสผู้ต้องหาคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ไปจากความควบคุมของโจทก์ตามคำร้องขอประกันและสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.4 แล้วจำเลยไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นการผิดสัญญาประกันโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาประกันเป็นเงิน 200,000บาท จำเลยไม่ชำระ
พิเคราะห์แล้ว พันตำรวจตรีปรีชา เจริญทรัพย์ ขณะเกิดเหตุคดีนี้รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อเบิกความว่านายสุรศักดิ์ เจริญวิลาส ผู้ต้องหาถูกจับกุมในข้อหาออกเช็คโดย มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเป็นเงิน93,000 บาท เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2515ข้อ 1 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ได้ระบุให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คเมื่อผู้ต้องหาออกเช็คเป็นความผิดจำนวนเงิน 93,000 บาท จำเลยเป็นผู้ขอประกัน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินให้ผู้ประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันเพียงไม่เกินจำนวนเงิน 93,000 บาท การที่พนักงานสอบสวนกำหนดจำนวนเงินให้ผู้ประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน200,000 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็ค เป็นการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวน จึงใช้บังคับผู้ประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือ 93,000 บาท ตามจำนวนเงินในเช็ค”
พิพากษายืน