คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีซึ่งรวมทั้งค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่ง แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือแต่บางส่วนก็ได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อาจสั่งถอนการยึดได้
จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกา โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เสร็จเด็ดขาดลงด้วยการประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 2 ปี แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยประกาศขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม ดังนี้ ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคสอง บัญญัติไว้ ค่าฤชาธรรมเนียมนี้มีขึ้นในชั้นบังคับคดีหาใช่ค่าฤชาธรรมเนียมในการพิจารณาก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดีไม่ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 163 ที่แต่ละฝ่ายยอมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาของตน เว้นแต่คู่ความจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น หากแต่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตามปกติแล้วโจทก์ผู้ดำเนินกระบวนพิจารณานี้จะต้องเป็นผู้ชำระตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 149 บัญญัติไว้ แต่มาตรา 149 นี้ อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชั้นที่สุดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ตกอยู่แก่ฝ่ายที่แพ้คดีแต่อย่างไรก็ดี ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือแต่บางส่วนก็ได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงต้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยประกาศขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาเห็นได้ว่า โจทก์มีเหตุสมควรและกระทำโดยสุจริตในการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยอีกทั้งเป็นความผิดของจำเลยที่ผิดนัดชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงได้เกิดการยึดทรัพย์จำนองขึ้น การที่จะถอนการยึดทรัพย์จำนองจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดของจำเลยดังกล่าว จำเลยจึงสมควรเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้กรณีเช่นนี้จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งในเรื่องความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดีโดยได้คำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่ง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share