แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์ทำสัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟนครราชสีมากับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี แต่ในสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงว่าโจทก์ต้องรักษาที่เช่าให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยต้องไม่ปลูกสร้างต่อเติมส่วนใดส่วนหนึ่งต้องให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจที่เช่าได้ทุกเมื่อ และต้องไม่ให้ผู้อื่นเช่าช่วงนั้นเป็นข้อสัญญาที่มิได้ให้สิทธิโจทก์ขายอาหารและสิ่งพิมพ์ในบริเวณสถานีรถไฟแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้สิทธิโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นผู้ครอบครอง ส่วนที่เป็นบริเวณร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟอีกด้วย ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ดังนั้น ในระหว่างอายุสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 จะเข้าปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟดังกล่าวในส่วนที่เป็นร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์อันเป็นสถานที่เช่าโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์มิได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ฝ่ายช่างโยธามาทุบร้านอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือห้ามปราม ฉะนั้น การที่โจทก์มาร้องขอลดค่าเช่ากับจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่สามารถทำการค้าได้ตามปกติหลังจากจำเลยที่ 1 เข้าปรับปรุงอาคารแล้วถึง 1 เดือนเศษ จึงเป็นพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าโจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทุบร้านอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดสัญญาในส่วนนี้ แต่เมื่อการปรับปรุงอาคารเสร็จแล้วเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ถูกดัดแปลงกลายสภาพเป็นห้องประชาสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองใช้ประโยชน์สืบมาอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าตามสัญญาได้ต่อไป จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัว
ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 คืนมัดจำให้แก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าสิทธิสิ้นสุดลงและได้พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่โจทก์ฎีกาปัญหานี้มาจึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟนครราชสีมากับจำเลยที่ 1 กำหนดระยะเวลาเช่า5 ปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 ให้ฝ่ายการช่างโยธาทุบร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ที่โจทก์เช่า อ้างเหตุว่าเพื่อปรับปรุงภายในอาคารร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์จนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2539โจทก์ไม่สามารถขายอาหารและสิ่งพิมพ์ได้ตามปกติ โจทก์ขาดรายได้ไป540,000 บาท เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้วจำเลยทั้งสองมิได้ส่งมอบร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์คืนโจทก์ โจทก์ขาดรายได้อีก480,000 บาท จำเลยทั้งสองผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 1,020,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือรอนสิทธิของโจทก์ตามสัญญาเช่า และให้คืนเงินมัดจำแก่โจทก์เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ให้สิทธิโจทก์เข้าไปขายอาหารและสิ่งพิมพ์ที่สถานีรถไฟนครราชสีมาในเขตพื้นที่ที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยโจทก์มีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนสัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาเช่าทรัพย์ จำเลยที่ 1 ต้องปรับปรุงสถานที่ที่กำหนดให้โจทก์ขายสิ่งพิมพ์เป็นห้องประชาสัมพันธ์เพื่อรับงานแสดงสินค้าจึงจัดสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่โจทก์ขายอาหารเป็นที่ขายสิ่งพิมพ์แห่งใหม่ซึ่งโจทก์ตกลงยินยอมด้วยการปรับปรุงสถานที่ไม่มีการทุบอาคารโจทก์ยังขายอาหารและสิ่งพิมพ์ได้ตามปกติ จำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญาเช่า ค่าเสียหายโจทก์ตามฟ้องไม่เป็นความจริง โจทก์ขาดรายได้เพราะเหตุอื่นโจทก์หาเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ลดค่าเช่าให้ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องละเมิดซึ่งขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์2539 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟนครราชสีมากับจำเลยที่ 1 ค่าเช่ารวมค่าภาษีโรงเรือนเดือนละ112,612.50 บาท มีกำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม2535 ตามสัญญาเช่าสิทธิเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งหัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต 2 โจทก์ขายอาหารและสิ่งพิมพ์ในบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา นับแต่วันทำสัญญาติดต่อกันเรื่อยมากระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 ปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟนครราชสีมาเพื่อรับงานแสดงสินค้า โจทก์ย้ายเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ไปยังบริเวณหน้าร้านขายอาหาร เมื่อการปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จ เคาน์เตอร์ดังกล่าวมีสภาพเป็นห้องประชาสัมพันธ์ตามภาพถ่ายหมาย จ.12 มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบภาพถ่ายหมาย จ.2 ถึง จ.6 ว่า วันที่ 10สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ให้ฝ่ายการช่างโยธาของจำเลยที่ 1 เข้าทุบร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ที่โจทก์เช่าอ้างว่า เพื่อปรับปรุงภายในอาคารร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถขายอาหารและสิ่งพิมพ์ได้ตามปกติถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2539 และเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ถูกดัดแปลงเป็นห้องประชาสัมพันธ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถส่งมอบคืนให้แก่โจทก์เพื่อใช้เป็นที่ขายสิ่งพิมพ์ได้ดังเดิม จึงถือว่าจำเลยที่ 1จึงผิดสัญญา จำเลยทั้งสองนำสืบโดยจำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1ต้องทำตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสนับสนุนงานแสดงสินค้าโดยปรับปรุงเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ที่โจทก์เช่าเป็นห้องประชาสัมพันธ์และให้โจทก์ไปขายสิ่งพิมพ์ที่หน้าร้านขายอาหารซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันห่างออกไปประมาณ 20 เมตร โจทก์ยังคงขายอาหารและสิ่งพิมพ์ได้ดังเดิม และได้ความตามคำเบิกความของนายสมนึก ฤาชา พยานจำเลยทั้งสองว่าบริเวณที่โจทก์เช่าอยู่ติดกับห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าเนื้อที่ประมาณ2 เมตรถึง 2 เมตรครึ่ง ลักษณะเป็นเคาน์เตอร์เปิดออกมาแล้ววางสิ่งพิมพ์ที่จะขาย นายสงกรานต์ ไชยมงคล พยานจำเลยทั้งสองอีกปากหนึ่งเบิกความว่า บริษัทที่รับจ้างปรับปรุงเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ก่อนเพื่อทำเป็นห้องประชาสัมพันธ์ และโจทก์ได้ย้ายสิ่งพิมพ์ไปขายที่หน้าสถานีรถไฟห่างจากเดิมประมาณ 4 ถึง 5 เมตร คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวรับฟังประกอบหนังสือขอความสะดวกในการปรับปรุงภายในอาคารตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์ที่ปรากฏข้อความผูกมัดจำเลยที่ 1 ว่า ร้านขายอาหารอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ทั้งสัญญาเช่าสิทธิตามเอกสารหมายจ.1 กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์เกี่ยวกับสถานที่เช่าไว้ในข้อ 6 ว่าโจทก์จะรักษาที่เช่าให้คงอยู่ในสภาพเรียบร้อยและจะรักษาความสะอาดโดยกวดขัน… ข้อ 9 โจทก์จะไม่ปลูกขึ้นใหม่หรือปลูกสร้างต่อเติมส่วนหนึ่งส่วนใดขึ้นในสถานที่เช่า… ข้อ 10 โจทก์ต้องยอมให้จำเลยที่ 1หรือพนักงานจำเลยที่ 1 เข้าตรวจสถานที่เช่าได้ทุกเมื่อ… ข้อ 12 โจทก์จะไม่ให้ผู้อื่นเช่าช่วง ดังนี้ เป็นต้น สัญญาเช่าสิทธิตามเอกสารหมาย จ.1จึงมิใช่สัญญาที่ให้สิทธิโจทก์ขายอาหารและสิ่งพิมพ์ในบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมาตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แต่เพียงอย่างเดียวตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกา หากแต่ยังให้สิทธิโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นผู้ครอบครองส่วนที่เป็นบริเวณร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟดังกล่าวอีกด้วย โดยถือเป็นสถานที่เช่าตามสัญญาเช่าสิทธิ ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะเข้าปรับปรุงอาคารส่วนที่เป็นร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์อันเป็นสถานที่เช่าโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์มิได้ แต่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ให้ฝ่ายการช่างโยธาเข้าทุบร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือห้ามปรามการกระทำดังกล่าว ต่อมาโจทก์กลับเป็นฝ่ายร้องขอลดค่าเช่ากับจำเลยที่ 1อ้างว่าไม่สามารถทำการค้าได้ตามปกติ หลังจากจำเลยที่ 1 เข้าปรับปรุงอาคารแล้วถึง 1 เดือนเศษตามหนังสือขอลดหย่อนค่าเช่าเอกสารหมายจ.9 พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทุบร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบจำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดสัญญาในส่วนนี้ แต่เมื่อการปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จ เคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ถูกดัดแปลงจนกลายสภาพเป็นห้องประชาสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองใช้ประโยชน์สืบต่อมาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์สถานที่เช่าตามสัญญาได้อีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยที่ 1ในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์เบิกความว่า ร้านขายอาหารขายได้วันละเท่าใด ไม่สามารถบอกได้ ส่วนการขายสิ่งพิมพ์ โจทก์มีบัญชีแสดงรายได้แต่ละวันเป็นหลักฐาน รายได้ดังกล่าวเป็นเปอร์เซ็นต์ที่หักจากราคาขาย ลูกหาบของโจทก์ทั้ง 40 คนจะขายสินค้าแตกต่างกันโดยลูกหาบที่ตั้งร้านขายอาหารจะเสียค่าเช่าให้แก่โจทก์เป็นรายวัน วันละ 200 บาท อัตราค่าเช่าสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกหาบเป็นเงินวันละ 300 บาท ต่ำสุดวันละ 10 บาทซึ่งจากข้อเท็จจริงข้างต้นโจทก์ไม่นำบัญชีแสดงรายได้อันเนื่องมาจากการขายอาหารและสิ่งพิมพ์ตามที่เบิกความถึงมาแสดงต่อศาล ทั้งไม่ปรากฏการเสียภาษีเงินได้บุคคลประจำปีว่า โจทก์มีรายได้ที่ต้องคำนวณภาษีมากน้อยเพียงใด พยานหลักฐานของโจทก์ข้อนี้จึงเลื่อนลอยรับฟังไม่ได้ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์มีรายได้สุทธิมากถึงวันละ 9,000 บาท จริง และหลังเกิดเหตุรายได้ของโจทก์ลดลงเหลือวันละ 6,000 บาทส่วนที่โจทก์นำนางเกษยา อมาตยกุล ภริยาโจทก์ นายสุริยัน คงอุ่น ลูกหาบ และนางสาวประไพ เอื้อรัตนพิศุทธิ์ ตัวแทนจำหน่ายหนังสือพิมพ์เข้าเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์เสียหายวันละ 3,000 บาท นั้น พยานบุคคลดังกล่าวล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียในกิจการค้าร่วมกับโจทก์ทั้งสิ้น จึงมีน้ำหนักน้อย เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพของร้านขายอาหารและเคาน์เตอร์ขายสิ่งพิมพ์ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ถึง จ.8 และ ล.5 ถึง ล.6 ประกอบข้อความตามหนังสือขอลดหย่อนค่าเช่าเอกสารหมาย จ.9 ทั้งข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของโจทก์เองว่า รายได้จากการขายอาหารของโจทก์ส่วนใหญ่ได้จากการเก็บค่าตอบแทนจากบรรดาลูกหาบของโจทก์ ซึ่งโจทก์จะมีรายได้คงที่แน่นอนตามจำนวนลูกหาบ ลูกหาบ จะขายอาหารหรือสินค้าอื่นใดลดลงเพียงใด โจทก์ยังคงได้ค่าเช่าเป็นค่าตอบแทนเช่นเดิมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายวันละ100 บาท นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2540จึงเหมาะสมแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัวฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน และที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือน เป็นเงิน 337,837.50 บาทแก่โจทก์ ด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในส่วนคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าสิทธิสิ้นสุดลง และได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 การที่โจทก์ฎีกาในปัญหานี้มานั้นเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้สำหรับที่โจทก์ฎีกา ในส่วนคำขอเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความรวม 1,200บาท ต่ำเกินไปนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดไว้เหมาะสมแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน