แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โรงพยาบาลมิชชั่นมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย การดำเนินกิจการใดจึงเป็นการกระทำในลักษณะของกลุ่มหรือคณะบุคคล จำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการหรือผู้จัดการโรงพยาบาลและทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการเมื่อผู้อำนวยการไม่อยู่ แม้จำเลยจะไม่ได้ลงนามในใบขนสินค้า แต่การที่จำเลยลงชื่อในหนังสือขอยกเว้นภาษีอากรถึงกรมศุลกากร เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบุคคลหรือคณะบุคคลที่ดำเนินกิจการในนามโรงพยาบาลมิชชั่น ในการนำเข้าสินค้า จำเลยจึงเป็นผู้นำเข้าสินค้าตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469
ย่อยาว
คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 63/2538 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งโจทก์ฟ้องนายโรนัลด์เป็นจำเลยในข้อหาเดียวกับคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคดีดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยคดีดังกล่าวไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน 4,170,009.18 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรแก่โจทก์เป็นเงิน 4,170,009.18 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามฟ้องของโจทก์ที่ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันนำสินค้าหลายประเภทได้แก่ รถยนต์ชนิดต่าง ๆ เสื้อผ้า เครื่องไฟฟ้า จักรเย็บผ้า ตู้เย็น เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ อันเป็นของที่ใช้แล้วและยังไม่ได้ใช้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือจำนวน 2 ครั้ง ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ก่อนหน้ามีการนำเข้าสินค้าตามฟ้อง นางเจริญศรีพนักงานของโรงพยาบาลมิชชั่นได้ไปติดต่อหารือกับเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ว่า ทางโรงพยาบาลได้รับของบริจาคมาใช้เพื่อสาธารณกุศลหรือสาธารณประโยชน์จึงต้องการทราบวิธีนำเข้าโดยได้รับยกเว้นภาษีอากร เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้ทราบว่า ตาม พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 กำหนดของที่ได้รับยกเว้นอากรไว้ในภาค 4 ประเภทที่ 11 ก. และ ข. โดยต้องเป็นของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคต่อไป หรือเป็นของที่ได้รับบริจาคมาเพื่อใช้เอง ซึ่งผู้รับบริจาคต้องเป็นส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล หลังจากนั้นโรงพยาบาลมิชชั่นได้นำหลักฐานต่าง ๆ มายื่นแสดงจนกระทรวงการคลังอนุมัติให้โรงพยาบาลมิชชั่นอยู่ในทำเนียบกิจการสาธารณกุศล ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการโรงพยาบาลมิชชั่นได้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรสำหรับสินค้านำเข้ายื่นต่อโจทก์ที่ 1 รวม 2 ฉบับ โดยหนังสือขอยกเว้นอากรที่จำเลยลงชื่อทั้งสองฉบับมีตราประทับของโรงพยาบาลมิชชั่นโดยใช้ข้อความว่า BANGKOK ADVENTIST HOSPITAL และ SEVENTH – DAY ADVENTIST ประกอบกับใบขนสินค้าสองฉบับซึ่งมีนายเจอร์รี่เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยในการติดต่อเกี่ยวกับการขอยกเว้นอากรครั้งแรก นางเจริญศรีได้พานายเจอร์รี่มาแนะนำต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ว่า นายเจอร์รี่จะเป็นผู้ที่มาติดต่อ โดยที่โรงพยาบาลมิชชั่นมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย การกระทำใดของโรงพยาบาลจึงต้องให้ผู้มีอำนาจสูงสุดคือจำเลยเป็นผู้ลงนามแทน จำเลยจึงเป็นผู้นำเข้าสินค้าตามใบขนแต่ละฉบับที่จำเลยลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากร
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นผู้นำเข้าสินค้าตามฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพียงการลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากร การลงนามของจำเลยดังกล่าวเป็นการลงนามในฐานะโรงพยาบาลมิชชั่น อีกทั้งยังเป็นการลงนามที่มิได้มีเจตนาที่จะสำแดงเท็จแก่โจทก์ หากแต่เชื่อโดยสุจริตตามคำบอกกล่าวของนายเจอร์รี่ว่า มีผู้ประสงค์จะบริจาคสิ่งของให้แก่โรงพยาบาลมิชชั่น ในขณะลงนามจำเลยก็ไม่ทราบใจความที่แท้จริงของหนังสือเนื่องจากจำเลยไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาและไม่ต้องรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์นั้น เห็นว่า นอกจากจะปรากฏในคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยเองยอมรับว่า หนังสือขอยกเว้นภาษีอากรนั้นเป็นเอกสารการขอยกเว้นอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามนั้นแล้ว จำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านยอมรับด้วยว่า ขณะลงนามจำได้ว่านายเจอร์รี่บอกว่าเอกสารเหล่านั้นเกี่ยวกับเรื่องการที่จะขออนุญาตนำของออกจากการอารักขาของโจทก์ที่ 1 ดังนั้น ขณะลงนามจำเลยจึงทราบอยู่แล้วว่าเป็นการลงนามในเอกสารเพื่อขอนำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ต้องเสียภาษีอากรและย่อมแสดงด้วยว่าจำเลยรู้เห็นในการที่ให้นายเจอร์รี่เป็นผู้ไปดำเนินการเกี่ยวกับการนำสินค้านั้นออกมาจากอารักขาของศุลกากรด้วย นอกจากนี้จำเลยและนายชัยวัฒน์ได้เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า การดำเนินการนำของบริจาคเข้ามาในประเทศนั้น ทางโรงพยาบาลมิชชั่นมอบให้นายเจอร์รี่เป็นผู้ดำเนินการทางพิธีการศุลกากร ส่วนกรณีที่นางเจริญศรีนำนายเจอร์รี่ไปแนะนำต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ว่า นายเจอร์รี่จะเป็นผู้มาติดต่อครั้งต่อไป นางเจริญศรีเบิกความรับว่า เป็นเพราะนายแพทย์รัสเซลซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมิชชั่นในขณะนั้น เป็นผู้แจ้งให้นางเจริญศรีดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโรงพยาบาลมิชชั่นได้มอบหมายให้นางเจริญศรีและนายเจอร์รี่ไปดำเนินการให้แก่โรงพยาบาลมิชชั่นแล้ว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สิ่งของที่นำเข้าตามฟ้องมิได้มีผู้ใดบริจาคมา ผู้นำเข้าจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย และแม้จะได้ความว่านายเจอร์รี่เป็นผู้ลงนามในใบขนสินค้าตามฟ้องทั้งหมด แต่ทางปฏิบัติของจำเลยและโรงพยาบาลมิชชั่นแสดงให้เห็นแล้วว่านายเจอร์รี่เป็นเพียงตัวแทนของโรงพยาบาลมิชชั่น จึงถือได้ว่าโรงพยาบาลมิชชั่นเป็นเจ้าของสิ่งของที่นำเข้าตามฟ้อง แต่โรงพยาบาลมิชชั่นมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย การบริจาคหรือดำเนินการใดจึงเป็นการกระทำในลักษณะของกลุ่มหรือคณะบุคคล ในช่วงที่มีการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้า จำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการหรือผู้จัดการโรงพยาบาลและทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการเมื่อผู้อำนวยการไม่อยู่ การที่จำเลยลงชื่อในหนังสือขอยกเว้นภาษีอากรถึงโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบุคคลหรือคณะบุคคล ที่ดำเนินกิจการในนามโรงพยาบาลมิชชั่นในการนำเข้าสินค้าตามฟ้อง จำเลยจึงเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.