คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างโดยตรงที่จะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง. ฉะนั้น จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาด้วยตนเองว่า ผู้ว่าจ้างเป็นบุคคลมีหลักฐานสมควรที่ผู้รับจ้างเข้าทำสัญญาด้วยหรือไม่. การที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นความประมาทและเสี่ยงภัยของตนเอง. ฉะนั้น แม้ผู้อื่นจะแจ้งแก่ผู้รับจ้างโดยไม่เป็นความจริงว่า. ผู้ว่าจ้างเป็นคนร่ำรวยมีฐานะดีก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้อื่นทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์. สัญญารับเหมาก่อสร้างจึงไม่ตกเป็นโมฆียะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นสมภารวัดไตรมิตรวราราม จำเลยที่ 3 เป็นไวยาวัจกร ได้ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ให้รู้จักและหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร่ำรวยฐานะดี มีสามีเป็นเศรษฐีโจทก์หลงเชื่อจึงได้เข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างสะพานถวายวัดซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นสมภาร โจทก์ได้สร้างสะพานใกล้จะเสร็จแล้วจึงขอรับเงินค่าจ้างเหมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินจ่ายให้โจทก์จึงสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่คนร่ำรวยอย่างที่จำเลยที่ 2กล่าวอ้าง สัญญารับเหมาก่อสร้างสะพานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1จึงตกเป็นโมฆียะกรรม โจทก์ได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะกรรม โจทก์ได้ทำงานไปโดยสุจริต ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยให้การต้องกันว่า มิได้สมคบกันหลอกลวงโจทก์ โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างสะพานท่าน้ำถวายวัดด้วยความสมัครใจ มิได้สำคัญผิดในตัวบุคคลหรือทรัพย์ โจทก์ได้ก่อสร้างสะพานผิดสัญญา จำเลยได้ขอร้องให้แก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ไม่แก้ไขทำให้สะพานเอียงทรุดใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงงดจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์สำคัญผิดในฐานะของจำเลยที่ 1จนโจทก์ได้ตกลงรับเหมาก่อสร้างสะพานท่าน้ำเพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 2 ซึ่งบอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนมีฐานะดี และจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าข้อที่จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ไม่เป็นความจริงและเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121 จำเลยที่ 1ได้รับหนังสือบอกล้างแล้ว พิพากษาให้สัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์สมัครใจเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1เป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่สืบสวนฐานะอันแท้จริงของคู่สัญญาจำเลยยังมิได้รับมอบงานจากโจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1สมบูรณ์ ใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆียะกรรม พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โจทก์มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1เป็นบุคคลมีหลักฐานสมควรที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาด้วยหรือไม่ซึ่งโจทก์สามารถสืบได้โดยไม่ยากนัก การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นความประมาทของโจทก์เอง และเป็นการเลี่ยงภัยของโจทก์ด้วย เพียงแต่จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะดีแม้จะไม่เป็นความจริง เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2กระทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ โดยเหตุนี้สัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆียะกรรมไม่ พิพากษายืน.

Share