คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5408/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีการโอนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยจากสาขาใดไปสาขาใดเพราะเหตุใด และใครเป็นผู้สั่งให้โอนแต่จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เหตุใดจึงมีการโอนบัญชีและใครเป็นผู้สั่งโอนจึงเป็นการกล่าวลอย ๆ มิได้แสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ดังนี้ ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าได้มีการโอนบัญชี ส่วนจะโอนเพราะเหตุใดและใครเป็นผู้สั่งให้โอนนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ไม่ว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์สาขาใดโจทก์ก็ฟ้องจำเลยได้อยู่แล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์จำเลยได้ตกลงเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีและต่ออายุสัญญากันอีกหลายครั้ง สัญญาครบกำหนดวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ซึ่งในวันดังกล่าวปรากฏตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เกินวงเงินที่อาจเบิกได้ไปแล้วหลังจากนั้นในวันที่22 สิงหาคม 2529 และวันที่ 26 กันยายน 2529 จำเลยยังได้เบิกเงินเกินบัญชีไปอีก 2 ครั้ง แต่จำเลยมิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอีกเลย ดังนี้เมื่อสัญญาครบกำหนดจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้หมดสิ้นตามสัญญา โจทก์ยังคงยอมให้จำเลยเป็นหนี้อยู่ต่อไป และยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปอีก 2 ครั้ง แสดงว่าคู่สัญญายังคงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา และไม่ถือว่ามีการผิดนัดจนกว่าจะได้มีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระเงินคงเหลือแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ลงวันที่16 มีนาคม 2530 กำหนดให้ชำระภายใน 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือในวันที่ 19 มีนาคม 2530 แล้วไม่ชำระภายในกำหนด จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2530 เป็นต้นไป โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในยอดเงินซึ่งค้างชำระเมื่อวันที่ 26 กันยายน2529 จนถึงวันผิดนัดและดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสตูล และสาขาละงูเป็นสาขาของโจทก์ จำเลยเป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาสตูล จำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาสตูลในวงเงิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ถ้าผิดนัดยอมให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับเงินต้นได้ กำหนดชำระหนี้หมดภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาเมื่อสัญญาครบกำหนดมีการต่ออายุสัญญาออกไปอีก 3 ครั้ง และตกลงเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีเป็นเงิน 100,000 บาท สัญญาครบกำหนดในวันที่ 1 สิงหาคม 2523 จำเลยได้จำนองที่ดินมีโฉนด 1 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดสตูล เป็นประกันวันที่ 1 สิงหาคม 2523จำเลยได้ขอต่ออายุสัญญาออกไปโดยให้ครบกำหนดในวันที่ 1 สิงหาคม 2524และเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีเป็น 200,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ18 ต่อปี แบบทบต้น ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2524 จำเลยได้ขอต่ออายุสัญญาออกไปอีก 2 ครั้ง โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีแบบทบต้น สัญญาครบกำหนดในวันที่ 1 สิงหาคม 2526 และได้ขอเพิ่มวงเงินอีก 280,000 บาท รวมเป็นวงเงินเบิกเกินบัญชี 480,000 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี แบบทบต้น ครบกำหนดชำระเงินคืนในวันที่1 สิงหาคม 2526 วันที่ 22 กรกฎาคม 2526 จำเลยขอเพิ่มวงเงินอีก220,000 บาท รวมเป็นวงเงินเบิกเกินบัญชี 700,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี ครบกำหนดชำระเงินเบิกเกินบัญชีทั้งหมดในวันที่1 สิงหาคม 2526 จำเลยยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นวันที่ 26 กรกฎาคม 2526จำเลยได้ขอต่อสัญญาออกไปอีก 3 ครั้ง สัญญาครบกำหนดครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 สิงหาคม 2529 หลังจากได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน 2529จำเลยได้นำเงินเข้าฝากบัญชีครั้งสุดท้าย 54,000 บาท หักทอนบัญชีในวันนั้นแล้วจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ 699,638.71 บาท จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินจากบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 1 สิงหาคม 2529 จำนวน5,000 บาท และยังคงเป็นหนี้โจทก์ 725,055.88 บาท หลังจากนั้นบัญชีของจำเลยก็หยุดเคลื่อนไหว วันที่ 11 ธันวาคม 2528 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์สาขาละงู จำนวน 400,000 บาท จำเลยได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา ดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี ยอมให้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยโดยจะชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท ภายในวันที่5 ของทุกเดือน และจะชำระให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2533โดยจำเลยได้จดทะเบียนจำนองเรือยนต์ 3 ลำ เป็นประกัน ต่อมาในวันที่13 มีนาคม 2529 จำเลยได้กู้เงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 2,000,000 บาทรวมเป็นเงินกู้ทั้งสิ้น 2,400,000 บาท โดยจำเลยได้จดทะเบียนจำนองเรือยนต์ 10 ลำ เป็นประกัน จำเลยไม่เคยชำระหนี้ตรงตามกำหนดโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้หลายครั้ง แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาในวันที่ 16 มีนาคม 2530โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามพร้อมกับบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยจำเลยได้รับแล้ว แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน3,447,734.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน788,493.04 บาท และต้นเงิน 2,322,802.42 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องโจทก์ เนื่องจากจำเลยได้บอกเลิกสัญญาและหักทอนบัญชีกับจำเลยได้ชำระหนี้คงเหลือให้โจทก์ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2529 จำนวนเงิน 552,764 บาท จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้ของโจทก์อีกต่อไปจำเลยไม่เคยโอนภาระหนี้สินที่ค้างชำระไปยังโจทก์ สาขาละงูอีกทั้งโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าเหตุใดจึงมีการโอนและใครเป็นผู้สั่งโอนจึงเป็นการกล่าวลอย ๆ มิได้แสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม สำหรับหนี้ตามสัญญากู้เงินตามฟ้อง จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์แต่อย่างใด จำเลยไม่เคยได้รับการทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,440,832.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 3,120,494.54 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่ามีการโอนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยจากสาขาใดไปสาขาใดเพราะเหตุใด และใครเป็นผู้สั่งให้โอน พิเคราะห์แล้วจำเลยให้การว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เหตุใดจึงมีการโอนบัญชีและใครเป็นผู้สั่งโอน จึงเป็นการกล่าวลอย ๆ มิได้แสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เห็นว่า ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าได้มีการโอนบัญชี ส่วนจะโอนเพราะเหตุใดและใครเป็นผู้สั่งให้โอนนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ไม่ว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์สาขาใด โจทก์ก็ฟ้องจำเลยได้อยู่แล้ว เช่นนี้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาข้อ 2 ว่า บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยหยุดเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2529 จึงต้องถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าวหลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป หากคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของยอดหนี้ในวันดังกล่าวโดยไม่ทบต้นถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 เดือน จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 795,103.17 บาท เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์จำเลยฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงเพิ่งวงเงินเบิกเกินบัญชีและต่ออายุสัญญากันอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเพิ่งวงเงินเป็น700,000 บาท สัญญาครบกำหนดวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ซึ่งในวันดังกล่าวปรากฏตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน725,055.88 บาท เกินวงเงินที่อาจเบิกได้ไปแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากนั้นในวันที่ 22 สิงหาคม 2529 และวันที่ 26กันยายน 2529 จำเลยยังได้เบิกเงินเกินบัญชีไปอีก 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,360 บาท แต่จำเลยมิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอีกเลยจำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ถึงวันที่ 26 กันยายน 2529 เป็นเงิน737,059.72 บาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ที่จำเลยยอมรับในฎีกา ที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากวันที่ 26 กันยายน 2529 บัญชีเดินสะพัดหยุดการเคลื่อนไหวต้องถือว่าสัญญาเลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อสัญญาครบกำหนดจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้หมดสิ้นตามสัญญา โจทก์ยังคงยอมให้จำเลยเป็นหนี้อยู่ต่อไป และยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปอีก 2 ครั้ง แสดงว่าคู่สัญญายังคงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา และไม่ถือว่ามีการผิดนัดจนกว่าจะได้มีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระเงินคงเหลือแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ลงวันที่16 มีนาคม 2530 กำหนดให้ชำระภายใน 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือในวันที่ 19 มีนาคม 2530 แล้วไม่ชำระภายในกำหนด จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2530 เป็นต้นไป โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในยอดเงินซึ่งค้างชำระเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 จนถึงวันผิดนัดและดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 800,039.90 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
จำเลยฎีกาข้อ 3 ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระต้นเงินกู้จำนวน2,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เพราะนายวีระ สมบูรณ์พันธ์ผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาละงู คนก่อนรับเงินจำนวนดังกล่าวไปซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบรูปคดีน่าเชื่อว่า จำเลยได้มอบเงินจำนวน2,400,000 บาท ที่จำเลยกู้ยืมจากโจทก์ สาขาละงู ให้นายวีระไปใช้ในธุรกิจระหว่างจำเลยกับนายวีระเป็นการส่วนตัว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยได้ใช้เงินกู้ให้โจทก์บางส่วนแล้ว คงค้างชำระต้นเงินในวันที่27 มิถุนายน 2529 เป็นเงิน 2,322,802.42 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวถึงวันฟ้องอีก 317,990.54 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,640,792.87 บาทจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share