คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าเป็นเรื่องภายในที่รู้เห็นกันเองระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้ขายในต่างประเทศไม่อาจรับฟังได้เป็นยุติว่ามีการตกลงซื้อขายกันตามราคาดังกล่าวจริงเพราะอาจเป็นการสมยอมกันทำเอกสารขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรให้เสียน้อยกว่าที่ควรต้องเสียก็เป็นได้และแม้จะเป็นราคาที่ตกลงซื้อขายกันจริงก็ยังไม่อาจรับฟังได้เป็นยุติว่าราคาที่ซื้อขายกันนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2วรรคสิบสอง เพราะคำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” ตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า “ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออก แล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด” ราคาที่ผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงซื้อขายกันนั้นอาจเป็นราคาที่ลดหย่อนให้แก่กัน ราคาที่ซื้อขายกันจริงจึงไม่อาจถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเสมอไป จะต้องคิดเปรียบเทียบกับราคาซึ่งจะพึงขายของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้นำสินค้าคือโรตารี่สวิตซ์จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 3 ครั้ง โดยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงราคาสินค้าชุดละ1.56 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคา เอฟ โอ บี แต่เจ้าพนักงานของจำเลยไม่พอใจราคาได้ประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มขึ้น พร้อมกับประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มโดยไม่ชอบโจทก์ได้ชำระภาษีอากรตามที่ประเมินเพิ่มและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยขอคืนเงินส่วนที่ประเมินเพิ่ม แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ขอให้เพิกถอนการประเมิน และให้จำเลยคืนเงิน 309,220 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าการประเมินถูกต้องแล้ว จำเลยไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์แต่เพียงว่า ราคาของที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 3 ฉบับตามฟ้องเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่าประเด็นนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบย่อมตกอยู่แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานระบุเฉพาะพยานเอกสารไว้เท่านั้น ดังนี้แม้โจทก์จะมีพยานเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าเป็นเอกสารที่จำเลยนำส่งศาลตามหมายเรียกซึ่งน่าจะรับฟังเป็นความจริงได้ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวข้างต้นก็รับฟังสนับสนุนคำกล่าวอ้างตามฟ้องได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้สั่งซื้อและชำระราคาสินค้าให้ผู้ขายในราคาตามฟ้องเท่านั้นแต่ราคาที่ซื้อขายกันดังกล่าวนี้ก็เป็นเรื่องภายในที่รู้เห็นกันเองระหว่างโจทก์กับผู้ขายในต่างประเทศไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้เป็นยุติว่าได้มีการตกลงซื้อขายกันตามราคาดังกล่าวจริง เพราะอาจเป็นการสมยอมกันทำเอกสารขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรให้น้อยกว่าที่ควรต้องเสียก็เป็นได้ และแม้ว่าจะเป็นราคาที่ตกลงซื้อขายกันจริงก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้เป็นยุติว่า ราคาที่ตกลงซื้อขายกันนั้น เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองได้ทั้งนี้เพราะตามบทกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติว่า “คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา” แห่งของอย่างใด นั้น หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด”ตามบทนิยามความหมายของคำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” เช่นนี้จึงไม่อาจถือได้ว่า ราคาที่ผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงซื้อขายกันจริงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเสมอไป ทั้งนี้เพราะผู้ซื้อกับผู้ขายอาจลดหย่อนราคาให้แก่กันก็เป็นได้ การคิดราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับของที่นำเข้า จึงต้องคิดเปรียบเทียบกับราคาซึ่งพึงขายของประเภท และชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าด้วย ซึ่งความข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ตามฟ้องนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ฝ่ายจำเลยมีนางสาวปาริชาติวุฒิเวชช์ เจ้าพนักงานผู้ประเมินราคาสินค้าพิพาทมาเบิกความว่าพยานได้เปรียบเทียบราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 3 ฉบับ กับราคาสินค้าประเภทและชนิดเดียวกัน และเมืองกำเนิดเดียวกัน ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล พี แอนด์ ดี เอ็นจิเนียริ่งนำเข้ามาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทเพียง 6 วัน อันเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันมากปรากฏว่าห้างดังกล่าวสำแดงราคา เอฟ.โอ.บี. ชุดละ 2.10 เหรียญสหรัฐแต่ราคาของที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวกลับต่ำกว่าที่ห้างดังกล่าวสำแดงประมาณชุดละ 0.54 เหรียญสหรัฐ และนางสาวปาริชาติยังเบิกความต่อไปว่าก่อนที่โจทก์จะนำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ก็เคยนำสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันจากเมืองกำเนิดเดียวกันนี้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงราคาสินค้าเอฟ.โอ.บี ชุดละ 1.80 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นนางสาวปาริชาติยังเบิกความด้วยว่า พยานได้นำราคาของตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาททั้ง 3 ฉบับมาเปรียบเทียบกับใบเปรียบเทียบราคาของกองพิธีกรและประเมินอากรตามเอกสารหมาย ล.1 และความข้อนี้เมื่อได้ตรวจพิเคราะห์เปรียบเทียบราคากันแล้วก็เป็นที่เห็นได้ว่าสินค้าประเภท และชนิดเดียวกันและเมืองกำเนิดเดียวกันนี้ผู้นำเข้ารายอื่นล้วนแต่สำแดงราคานำเข้าต่อชุดสูงกว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ทุกราย เห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าราคาของที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 3 ฉบับตามฟ้องเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด”
พิพากษายืน.

Share