คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3986/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกใช้หลักฐานปลอมหลอกลวงโจทก์ร่วม โดยอ้างว่า ว.ขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทโจทก์ร่วม ซึ่งความจริง ว. ตัวจริงได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงออกกรมธรรม์ประกันชีวิตอันเป็นเอกสารสิทธิให้ การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเสร็จเด็ดขาดกรรมหนึ่งแล้ว ต่อมาจำเลยกับพวกได้สร้างสถานการณ์ว่าว. ผู้เอาประกันได้รับอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย เพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วม จนโจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงจ่ายเงินตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ให้กับพวกของจำเลย แม้การกระทำครั้งหลังนี้จำเลยได้นำเอาผลของการกระทำครั้งก่อนมาเป็นส่วนประกอบ แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาจะทำให้ผลของการหลอกลวงทั้งสองครั้งเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมแต่ละส่วนกัน การกระทำของจำเลยครั้งหลังนี้จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงต่างกรรมกับการกระทำครั้งแรก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,264, 265, 267, 268, 341, 342, 83, 84, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
บริษัทประกันชีวิตศรีอยุธยา จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก,83 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268วรรคสองและมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 2 ปี
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2522 จำเลย นายสุรศักดิ์และนายสุวิทย์ร่วมกันปลอมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อโจทก์ร่วม โดยนายสุรศักดิ์ใช้หลักฐานปลอมเพื่อแสดงตนว่าชื่อนายวิชัย เกียรติศิริกุล ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน มายื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อโจทก์ร่วมในนามของนายวิชัย ระบุให้นายสุวิทย์และนางกิมชุ้นเป็นผู้รับประโยชน์โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2523 นายวันลูกจ้างญาติของนายสุวิทย์ตาย จำเลยแนะนำให้นายสุวิทย์แจ้งต่อทางราชการว่า ผู้ตายชื่อนายวิชัยที่ได้ทำประกันชีวิตไว้ตามกรมธรรม์ ตายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อได้หลักฐานจากทางราชการแล้ว นายสุวิทย์แจ้งโจทก์ร่วมว่า นายวิชัยผู้เอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตายขอรับประโยชน์ตามที่กำหนดในกรมธรรม์ จำเลยทำรายงานรับรองว่านายวิชัยตายจริง โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์จำนวน 2,000,000 บาท คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมเฉพาะข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยกับพวกได้นำหลักฐานอันเป็นเท็จมาหลอกลวงโจทก์ร่วมเมื่อเดือนพฤษภาคม2522 จนโจทก์ร่วมหลงเชื่อแล้วออกกรมธรรม์ประกันชีวิตอันเป็นเอกสารสิทธิให้ไปกันผู้ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้เอาประกันชีวิตนั้นเป็นการกระทำตอนหนึ่งซึ่งสำเร็จเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและได้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมจากการกระทำของจำเลยในครั้นนั้นแล้วขั้นตอนในการกระทำผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยในส่วนนี้เป็นที่เห็นได้ว่าเสร็จสิ้นไปนับแต่ที่โจทก์ร่วมได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กรณีในเดือนเมษายน 2523 ที่จำเลยได้เอาความอันเป็นเท็จว่าผู้เอาประกันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้หลอกลวงให้โจทก์ร่วมออกให้ตายโดยอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ไปนั้น เป็นการกระทำที่จำเลยกระทำขึ้นใหม่และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ต่างจากความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับอยู่จากการกระทำผิดของจำเลยครั้งก่อนถึงแม้ว่าการกระทำของจำเลยครั้งหลังนี้จำเลยได้นำเอาผลของการกระทำผิดครั้งก่อนมาเป็นส่วนประกอบในการหลอกลวงครั้งหลังด้วยก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาจะทำให้ผลของการหลอกลวงทั้งสองครั้งเกิดความเสียหายแก่โจทก์ในแต่ละส่วนกันเช่นนี้ จึงมิใช่กรณีที่การกระทำผิดของจำเลยครั้งก่อนเกลื่อนกลืนไปกับที่ได้กระทำผิดครั้งหลัง ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสองกรรมต่างกันคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 3 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share