คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3566/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อน อ้างว่าป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาต ก่อนถึงวันนัดที่เลื่อนไป ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างเหตุว่าในนัดที่แล้วให้เสมียนทนายขอ เลื่อนคดีโดยให้นัดเกิน 1 เดือนวันนัดที่เลื่อนไปมิใช่เป็นวันนัดที่มอบให้เสมียนทนายไว้เพราะทนายโจทก์ติดว่าความที่ศาลแขวงสุพรรณบุรีซึ่งได้นัดไว้ก่อนเป็นคำร้องที่แสดงเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ และมีข้อความว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรมเมื่อปรากฏว่าในนัดที่แล้วศาลชั้นต้นเพียงกำชับโจทก์ว่า ให้เตรียมพยานมาให้พร้อมและทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนวันนัดถึง 10 วันอีกทั้งทนายจำเลยมิได้คัดค้านว่าข้ออ้างของโจทก์ไม่เป็นความจริงแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้เสมียนทนายไปแจ้งให้ทนายโจทก์นำพยานมาสืบตอนบ่าย ก็ย่อมเห็นได้ว่าทนายโจทก์ไม่อาจมาว่าความในวันนั้นได้ ถือว่ามีเหตุสมควร ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อนคดีไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน83-6204 กรุงเทพมหานคร ของบริษัทคริสเตียนนีและนิลเส็น (ไทย)จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-4636 นครปฐม ไว้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2528 ขณะที่นายบุญร่วม กรวดนอก พนักงานขับรถยนต์ของบริษัทคริสเตียนนีและนิลเส็น (ไทย) จำกัด ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 83-6204 กรุงเทพมหานคร ถึงบริเวณ หมู่ที่ 1ตำบลช่องลม อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร นายสุชาติไม่ทราบนามสกุล ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-4636 นครปฐม แล่นสวนทางมาด้วยความประมาทโดยขับแซงรถซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าล้ำเข้าไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน83-6204 กรุงเทพมหานคร ในช่องเดินรถของนายบุญร่วม กรวดนอกเป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 83-6204 กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 264,000 บาทให้แก่บริษัทคริสเตียนนีและนิลเส็น (ไทย) จำกัด โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากนายสุชาติ ไม่ทราบนามสกุลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายสุชาติ ไม่ทราบนามสกุล และจำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยจากจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันชดใช้เงินที่โจทก์จ่ายไปพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 264,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-6204 กรุงเทพมหานคร จากเจ้าของผู้มีส่วนได้เสียนายสุชาติไม่ทราบนามสกุล ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และในขณะเกิดเหตุไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 2 เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 83-6204กรุงเทพมหานคร ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงจนเสียหลักเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-4636 นครปฐม จึงเกิดชนกันขึ้น โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิดคดีโจทก์ขาดอายุความ รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-6204 กรุงเทพมหานครเป็นรถเก่าและได้รับความเสียหายเฉพาะส่วนหน้า การซ่อมใช้เงินไม่เกิน 100,000 บาท ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมจำเลยที่ 2 กระทำผิดเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยโดยให้ผู้ขับซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาต ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-4636นครปฐม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดแทนผู้เอาประกันภัย หากจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดก็ไม่เกิน 250,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนดและโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุป่วยมีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอและคลื่นไส้โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปวันที่22 กุมภาพันธ์ 2531 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าในการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันที่ 22 มกราคม2531 นั้น ทนายโจทก์ได้แจ้งแก่เสมียนทนายแล้วว่าทนายโจทก์ติดว่าความที่ศาลแขวงสุพรรณบุรีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งนัดไว้ก่อนไม่สามารถว่าความคดีนี้ได้ แต่ศาลชั้นต้นกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันที่ทนายโจทก์ไม่ว่างทนายโจทก์จึงไม่สามารถมาว่าความได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีว่า สำเนาให้จำเลยที่ 1 สั่งในวันนัด ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนโจทก์คงมีแต่เสมียนทนาย ซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์ให้มาฟังคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดแทน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขอเลื่อนของทนายโจทก์ไม่มีเหตุสมควรให้เสมียนทนายโจทก์ไปแจ้งให้โจทก์นำพยานมาสืบในเวลา 13.30 นาฬิกา ครั้นตอนบ่ายศาลออกนั่งพิจารณาเวลา 14.45 นาฬิกา ทนายจำเลยที่ 1 มาศาลทนายโจทก์และเสมียนทนายโจทก์ไม่มา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาต ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีตามคำร้องลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 ได้ ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531เป็นต้นไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาคดีไปตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าทนายโจทก์มิได้แสดงเหตุผลว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรมหรือได้รับความเสียหายอย่างไร อีกทั้งไม่มีเหตุที่จะให้เลื่อนคดีอีกด้วยนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามสำนวนว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนโดยเหตุว่ามีพยานมาศาลเพียงปากเดียว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปวันที่ 22 มกราคม 2531ถึงวันนัดทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันที่22 มกราคม 2531 นั้น ทนายโจทก์ได้ให้เสมียนทนายขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ไปเกินกำหนด 1 เดือน แต่ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในนัดต่อไปในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 เวลา 8.30 นาฬิกา ซึ่งวันเวลาดังกล่าวทนายโจทก์ติดว่าความที่ศาลแขวงสุพรรณบุรีซึ่งนัดไว้ก่อนแล้วไม่สามารถว่าความคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีว่า สำเนาให้จำเลยที่ 1 สั่งในวันนัด ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนโจทก์คงมีเสมียนทนายซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์ให้มาฟังคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดแทน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ไม่มีเหตุสมควรให้เสมียนทนายโจทก์ไปแจ้งให้นำพยานมาสืบในวันนั้นเวลา 13.30 นาฬิกา ซึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าวโจทก์และเสมียนทนายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ไม่มีเหตุสมควร จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแล้วพิพากษายกฟ้องเห็นว่า คำร้องขอเลื่อนคดีลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 อ้างเหตุว่าในการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายขอเลื่อนคดีในครั้งที่แล้วนั้น ทนายโจทก์ให้เสมียนทนายขอเลื่อนคดีโดยให้นัดเกิน 1 เดือนซึ่งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 ไม่ได้เป็นวันนัดที่ได้มอบให้เสมียนทนายไว้ในวันดังกล่าวทนายโจทก์ติดว่าความที่ศาลแขวงสุพรรณบุรีซึ่งได้นัดไว้ก่อนโดยระบุเลขคดีและชื่อคู่ความไว้ชัดเจน ทั้งมีข้อความว่าขอเลื่อนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย จึงเป็นคำร้องที่แสดงถึงเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ และย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีในครั้งนี้จะทำให้เสียความยุติธรรมส่วนปัญหาที่ว่ามีเหตุสมควรอนุญาตให้เลื่อนคดีตามคำร้องหรือไม่นั้นปรากฏว่าวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 22 มกราคม 2531 ศาลชั้นต้นกำชับฝ่ายโจทก์เพียงว่านัดหน้าให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมทั้งคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ได้ยื่นตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์2531 ก่อนวันสืบพยานถึง 10 วัน อีกทั้งศาลชั้นต้นได้สั่งให้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ซึ่งทนายจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้คัดค้านว่าข้ออ้างของทนายโจทก์ไม่เป็นความจริง แม้ในวันสืบพยานโจทก์นั้นศาลชั้นต้นได้สั่งให้เสมียนทนายไปแจ้งให้ทนายโจทก์นำพยานมาสืบตอนปลายก็ย่อมเห็นได้ว่าทนายโจทก์ไม่อาจมาว่าความในวันนั้นได้จะถือว่าทนายโจทก์มีพฤติการณ์ประวิงคดีไม่ได้ซึ่งศาลชั้นต้นสมควรให้เลื่อนคดีไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share