คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5 สั่งจ่ายเงินไม่เกินฉบับละ5,500 บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเช็ค ฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ แล้วพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่เกี่ยวกับเช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5 คดีในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือ ยกฟ้องโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า จำเลยได้ขอกู้เงินโจทก์ร่วมจำนวน 99,800 บาท โจทก์ร่วมตกลงให้กู้จำเลยได้ออกเช็ค 5 ฉบับ รวมทั้งเช็คพิพาทฉบับที่ 1 มอบให้โจทก์ร่วมพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือของจำเลยมาประกอบ เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยกู้เงินโดยมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่บัญญัติในภายหลังว่า การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยซึ่งได้กระทำการเช่นนั้นจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา2 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้วรวม 5 กระทง กระทงแรกจำคุก 7 เดือน กระทงที่ 2 ถึงกระทงที่ 5จำคุกกระทงละ 15 วัน รวมจำคุก 9 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยได้ออกเช็คพิพาทจำนวน5 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ร่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2532โจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่ายและบัญชีปิดแล้ว คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาประการแรกว่า ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 2ถึงฉบับที่ 5 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามเช็คจำนวน 5 ฉบับต่างกรรมต่างวาระกัน เช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5 แต่ละฉบับสั่งจ่ายเงินไม่เกินจำนวน 5,500 บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในส่วนของเช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้แล้วพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับเช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อเป็นเช่นนี้คดีมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่เกี่ยวกับเช็คฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 5 คดีในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวคือ ศาลยกฟ้องโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาประการที่สองว่า จำเลยกระทำความผิดตามเช็คพิพาทฉบับที่ 1หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มาตรา 4 บัญญัติว่า”ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดฯ” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า จำเลยได้ไปขอกู้เงินโจทก์ร่วมจำนวน99,800 บาท โจทก์ร่วมตกลงให้กู้ จำเลยได้ออกเช็ค 5 ฉบับ รวมทั้งเช็คพิพาทฉบับที่ 1 เอกสารหมาย จ.1 มอบให้โจทก์ร่วมในขณะนั้นพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือของจำเลยมาประกอบ เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยกู้เงินจำนวนดังกล่าวโดยมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยซึ่งได้กระทำการเช่นนั้นจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2วรรคสอง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share